ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนด้วยความชาญฉลาดและอ่อนโยน
สัมภาษณ์ศาสตราจารย์ ดร. นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ (Narumon Pinyosinwat)
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน
ในฐานะประเทศที่ปกครองด้วยกฎหมาย ประเทศไทยมีระบบกฎหมายที่เข้มงวด ซึ่งกฎหมายแรงงานของไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปกป้องสิทธิอันชอบธรรมและผลประโยชน์ของคนงาน สำหรับนักลงทุนชาวจีนที่ต้องการลงทุนในประเทศไทย จำเป็นต้องเข้าใจกฎหมายและระเบียบข้อบังคับด้านแรงงานในท้องถิ่น การจัดการแรงงานให้สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และเพื่อปกป้องสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมายและผลประโยชน์ของแรงงาน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้แจงในที่ประชุมรายงานเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีพ.ศ. 2564 ว่า จากผลกระทบของโควิด -19 ครั้งใหม่ ทำให้จำนวนผู้ว่างงานในประเทศไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีพ.ศ. 2564 เพิ่มขึ้นเป็น มากกว่า 760,000 คน อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.96% ตลาดแรงงานโดยรวมที่ย่ำแย่ ส่วนใหญ่เกิดจากผลกระทบทั้งจากคลื่นลูกที่สองและสามของการแพร่ระบาดตั้งแต่ต้นปี
ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ยังคงดำเนินต่อไป งานของกระทรวงแรงงานไทยมีความยากลำบากอย่างยิ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวซ้ำ ๆ ว่าในช่วงเวลาที่ยากลำบากในปัจจุบัน การจ้างงานและรายได้ของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ รัฐบาลจำเป็นต้องทำมากกว่านี้เพื่อสร้างงานที่ได้ค่าตอบแทนสูง เพื่อให้ประชาชนสามารถเลี้ยงดูครอบครัว ส่งลูกไปเรียนในสถานศึกษา เพิ่มเงินออมเพื่อการเกษียณ และเพิ่มจำนวนชนชั้นกลางให้ได้มากขึ้น ฉบับนี้เราสัมภาษณ์ศาสตราจารย์ ดร. นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ไม่เพียงแต่มีความงามที่ไม่ธรรมดาแต่ยังมีอุปนิสัยที่สง่างาม ภายใต้ความงามของเธอและความชาญฉลาด ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในเวทีการเมืองอีกด้วย
ศาสตราจารย์ ดร. นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เคยเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า เคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยเป็นโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งการคำนึงถึงการบริการประชาชนและการตอบแทนสังคมนั้นเป็นภารกิจของเธอ หลังจากรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานแล้ว ก็ได้พบปะแรงงานและฟังเสียงของแรงงาน เพื่อส่งเสริมการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ระดับชาติและทิศทางการพัฒนาภายใต้นโยบายการพัฒนาประเทศ มาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ผู้ปฏิบัติงานและวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ได้มีการนำนโยบายและมาตรการต่าง ๆ มาใช้ เช่น การดำเนินการตามนโยบายสนับสนุนคนพิการ กิจกรรม และการฝึกอบรม เพื่อเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน ดำเนินนโยบายเพื่อบรรเทาความยากจน กำหนดกฎระเบียบเพื่อจำกัดการเก็บดอกเบี้ยจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ให้ความสนใจกลุ่มผู้ด้อยโอกาส สร้างการรวบรวมข้อมูลขององค์กรและบุคคลในฐานข้อมูลของกระทรวงแรงงาน รวมทั้งการจัดการเรื่องแรงงานต่างด้าว
ศาสตราจารย์ ดร. นฤมล เกิดในตระกูลชาวจีน "ความกตัญญูกตเวที" และ "การตอบแทนสังคม" นั้น เป็นแนวคิดที่พ่อแม่ปลูกฝังให้เธอตั้งแต่ยังเด็ก เธอได้รับทุนจากรัฐบาลและทุนเพื่อการศึกษา เมื่อตอนที่ยังเรียนอยู่ ทำให้เข้าใจถึงความสำคัญของการตอบแทนสังคมมากขึ้น จากประสบการณ์การเป็นอาจารย์ สู่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน คุณนฤมลรู้ดีว่าเราต้องลงลึกและเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน จึงจะช่วยเหลือแต่ละคนได้อย่างถูกต้อง โดยการเข้าไปสื่อสารกับประชาชน เรียนรู้จากประชาชน และรับใช้ประชาชนอย่างแท้จริงเท่านั้นที่เราจะได้รับความนับถือและความไว้วางใจจากประชาชน เพื่อเข้าสู่รากหญ้าและหัวใจของประชาชนอย่างแท้จริง
ManGu : กรุณาแนะนำตัวเองหน่อยค่ะ
คุณนฤมล : สวัสดีทุกคน ฉัน นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ประจำประเทศไทย
ManGu : ไม่ว่าคุณจะศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก วิชาเอกของคุณล้วนเกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ และคุณก็ชอบคณิตศาสตร์มาก คุณค้นพบว่าคุณชอบคณิตศาสตร์เมื่ออายุเท่าไหร่? คุณชอบคณิตศาสตร์ตั้งแต่เด็กหรือไม่?
คุณนฤมล : ฉันไม่รู้ว่าตัวเองอายุเท่าไหร่ถึงชอบวิชาคณิตศาสตร์ แต่ฉันชอบคณิตศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก ฉันจะได้คะแนนสูงมากในวิชาที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และเคมี ตอนที่ฉันเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ฉันจะออกไปสอนนักเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลาย และสอนคณิตศาสตร์ให้พวกเขาตอนที่ไม่มีชั้นเรียน
ManGu : ตอนนั้นคุณเคยคิดบ้างไหมว่าหลังจากสำเร็จการศึกษา คุณจะทำงานในด้านไหน? คุณต้องการทำงานเกี่ยวกับตัวเลขหรือเปล่า?
คุณนฤมล : ฉันไม่ได้คิดเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะตอนที่ฉันเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ฉันเป็นติวเตอร์ ฉันจึงอยากเป็นครู ต่อมาหลังจากได้รับทุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ฉันก็ไปเรียนต่อที่อเมริกาเพื่อเรียนต่อด้านคณิตศาสตร์ ทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก ใช้เวลา 7 ปีจึงจะเรียนจบก่อนเดินทางกลับมาเป็นอาจารย์ที่นิด้าค่ะ
ManGu : หลังจากที่คุณกลับมาจากอเมริกา คุณวางแผนที่จะประกอบอาชีพเป็นอาจารย์ใช่ไหม?
คุณนฤมล : ใช่ค่ะ เพราะเงื่อนไขในการรับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศคือต้องเป็นอาจารย์หลังเรียนจบและกลับประเทศ เมื่อตอนที่ฉันเรียนจบ ฉันก็ได้เรียนรู้ทักษะการสอนด้วย ในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา วิธีการสอนของอาจารย์แตกต่างกันมาก เมื่อเรียนสถิติที่จุฬาลงกรณ์ อาจารย์มักจะสอนสูตรก่อนแล้วจึงนำตัวอย่างมาทำ แต่ในสหรัฐอเมริกา อาจารย์จะอธิบายที่มาของสูตรให้เราทราบก่อน เมื่อฉันกลับไปสอนที่ประเทศไทย ฉันใช้วิธีการสอนตามนิสัยการเรียนรู้ของคนไทยและผสมผสานกับประสบการณ์ที่ฉันได้เรียนรู้ในสหรัฐอเมริกา
ManGu : หลังจากกลับมาที่ประเทศไทยได้เป็นอาจารย์ แล้วรู้สึกอย่างไร?
คุณนฤมล : หลังจากกลับมาที่ประเทศไทย ฉันได้ทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย NIDA และได้ปรับตัวหลายอย่าง เพราะการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย NIDA ตอนนั้นยังเป็นระบบราชการอยู่ และเงินเดือนของข้าราชการก็น้อยมากในตอนนั้น ขนาดเรียนจบปริญญาเอก แต่เงินเดือนของฉันเพียง 10,600 บาทเท่านั้น ด้วยเหตุผลนี้เอง ฉันจึงจำเป็นต้องทำงานอย่างอื่นเพื่อเพิ่มรายได้ มีคนจากธนาคารกรุงเทพติดต่อมา ต้องการคนที่จบการเงินมาเป็นที่ปรึกษาธนาคาร จึงอยากให้ลาออกจากมหาวิทยาลัย NIDA มาทำงานธนาคาร ตอนนั้นได้ปรึกษาหลายคนแล้ว พวกผู้ใหญ่ในครอบครัวบอกว่าควรจะเป็นอาจารย์ต่อไป ต่อมาจึงตัดสินใจทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับธนาคารกรุงเทพ แต่ก็ยังทำงานเป็นอาจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัย NIDA ด้วย การสอนขณะทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ เป็นประโยชน์สำหรับฉัน เพราะฉันสามารถให้ความรู้แก่นักเรียนมากขึ้นด้วยประสบการณ์จริงของฉันเอง แม้ว่าฉันจะเรียนเอกการเงินตอนเรียนปริญญาเอก แต่การทำงานในธนาคารก็เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับฉันเช่นกัน จำเป็นต้องเรียนรู้คำศัพท์ ข้อกำหนดและระบบต่าง ๆ ระดับมืออาชีพที่ใช้ในธนาคารจริง ๆ หลังจากทำงานที่ธนาคารกรุงเทพมาสองปี ฉันก็รู้จักผู้คนมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็มีคนจากตลาดหลักทรัพย์ติดต่อมา โดยหวังว่าฉันจะสามารถทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารความเสี่ยงให้กับพวกเขาได้ มีอีกหลายองค์กรที่ต้องการเชิญฉันเป็นที่ปรึกษา เช่น กองทุนเฮดจ์ฟันด์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลาม ธนาคารออมสิน เป็นต้น ที่ตลาดหลักทรัพย์จะมี 2 เรื่องหลัก ๆ คือเรื่องความเสี่ยงทางการเงิน กับ เรื่องความเสี่ยงขององค์กร
ManGu : การเป็นอาจารย์ของคุณก็ค่อนข้างราบรื่นดี แล้วทำไมคุณถึงก้าวเข้าสู่แวดวงการเมืองได้?
คุณนฤมล : อันที่จริงฉันไม่เคยคิดเรื่องการเมืองเลย และไม่มีใครที่บ้านทำงานด้านการเมืองเลย หลังจากที่ฉันได้เป็นศาสตราจารย์ตอนอายุ 37 ปี และสถานะนี้ถือเป็นตำแหน่งสูงสุดในด้านวิชาการ ก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าอยากทำอะไรต่อไป หลังจากเป็นอาจารย์แล้วฉันอยากทำงานที่สามารถช่วยเหลือสังคมได้ จึงได้เข้าร่วมกิจกรรมมูลนิธิและกิจกรรมทางวิชาการมากมาย เช่น มูลนิธิอนาคตไทย โดยทั่วไปจะเข้าไปทำหลักสูตรการฝึกอบรมให้เขา ไปหาแหล่งทุนที่จะเข้ามาดำเนินการในมูลนิธิให้ พอทำไปเรื่อย ๆ ก็ได้รู้จักผู้คนในแวดวงต่าง ๆ มากขึ้น ได้มาเกี่ยวข้องกับการเมืองจริง ๆ ในปีพ.ศ. 2558 ฉันได้พบกับท่านรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานในตอนนั้น พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล ในหลักสูตรอบรมนึง ท่านขอให้ฉันเป็นที่ปรึกษาให้กับท่าน เพราะท่านทราบว่าฉันทำวิจัยเกี่ยวกับประกันสังคม เป็นงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเลย ท่านก็เลยอยากให้ฉันเขามาช่วยในด้านวิชาการตรงนี้ หลังจากที่ฉันมาช่วยงานที่กระทรวงแรงงาน ฉันก็ค่อย ๆ ปรับตัวเข้ากับงานและทำความคุ้นเคยกับกระบวนการทำงานนี้ พอปีพ.ศ. 2560 หลังจากท่านลาออก ท่านอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังก็ต้องการให้ฉันเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันได้สัมผัสงานการเมืองอย่างเป็นทางการ เนื่องจากฉันไม่ได้เป็นข้าราชการเมื่อสมัยเป็นที่ปรึกษาที่กระทรวงแรงงาน เพราะจะต้องชดใช้ทุน แต่พอเข้ามาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ฉันก็ใช้ทุนครบพอดี แต่การที่จะได้ตำแหน่งในกระทรวงการคลังได้นั้น ฉันต้องลาออกจากงานอาจารย์มหาวิทยาลัย
ManGu : อาจารย์และนักการเมืองเป็นสองอาชีพที่แตกต่างกันมาก และลักษณะงานก็แตกต่างกัน คุณคิดว่าอะไรคือความคล้ายคลึงและความแตกต่างกันมากที่สุดระหว่างทั้งสองอาชีพ
คุณนฤมล : ตอนที่ฉันเป็นอาจารย์ จะมีตารางสอนที่แน่นอน เสาร์อาทิตย์จะสอนอยู่ที่นิด้าทั้งวัน ส่วนวันจันทร์ถึงวันศุกร์จะไม่ได้สอนทุกวัน ฉันก็จะไปทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทต่าง ๆ และร่วมประชุมกับพวกเขา หลังจากเป็นนักการเมืองแล้ว ไม่มีเวลาที่แน่นอนเลย บางครั้งมีการประชุมด่วน บางครั้งต้องลงพื้นที่ และบางครั้งต้องไปหารือเรื่องต่าง ๆ นอกรอบ
ManGu : การทำงานในกระทรวงแรงงานและกระทรวงการคลัง คุณคิดว่าอะไรคือความแตกต่างที่มากที่สุดระหว่างสองกระทรวง
คุณนฤมล : ลักษณะงานของกระทรวงการคลังแตกต่างจากกระทรวงแรงงานมาก กระทรวงการคลังเป็นเหมือนสมองของประเทศและต้องใช้สมองทำงานค่อนข้างมาก คนในกระทรวงการคลังส่วนใหญ่จบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง เขาไม่มีโอกาสได้เยี่ยมเยียนประชาชนมากนัก หน้าที่หลักของพวกเขาคือการกำหนดนโยบายการคลัง ส่วนกระทรวงแรงงานจำเป็นต้องเจาะลึกถึงมวลชนและเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเพื่อที่จะสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างถูกต้อง ประมาณปีพ.ศ. 2560 กระทรวงการคลังได้รับมอบหมายให้ดูแลนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้ยากไร้ มีรายได้ต่ำ ผู้มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี งานที่สำคัญคือการเข้าไปรับรู้ถึงปัญหาของพวกเขา แล้วหาวิธีแก้ปัญหาและกำหนดนโยบายที่เหมาะสม
ManGu : หลังจากที่คุณเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอาชีพนักการเมืองของคุณได้เกิดขึ้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงนี้คืออะไร
คุณนฤมล : ในปีพ.ศ. 2562 มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรและฉันได้รับเลือกเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญและเป็นโอกาสสำหรับฉัน หลังจากดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สองเดือน สำนักนายกรัฐมนตรีได้ติดต่อฉันและขอให้ฉันเป็นโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี จากนั้นฉันก็ลาออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และไปดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ManGu : หลังจากที่ดำรงตำแหน่งโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว คุณประสบปัญหาอะไรบ้างไหม?
คุณนฤมล : โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีไม่ง่ายอย่างที่เราเห็น มีหลายเรื่องที่ต้องใส่ใจเพราะต้องพูดแทนนายกรัฐมนตรี พลาดไม่ได้ เพราะทุกคำที่เราพูด เป็นตัวแทนของท่านนายกรัฐมนตรี เวลาเจอสื่อสัมภาษณ์ ก็ต้องระวังตัวค่อนข้างเยอะ ก็เลยจะรู้สึกค่อนข้างเกร็งในการที่จะตอบอะไร ซึ่งทำให้รู้สึกว่างานนี้แตกต่างจากที่ฉันคิด
ManGu : ตอนนั้นมีช่วงเวลาที่ท้อแท้บ้างไหม?
คุณนฤมล : ไม่ได้ท้อค่ะ ตั้งแต่เริ่มทำงานการเมืองก็บอกตัวเองเสมอว่าให้อยู่กับปัจจุบัน และทำสิ่งที่ต้องทำให้ดีที่สุด เพราะควบคุมไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เพราะตอนนี้เราเข้าสู่เวทีการเมืองแล้ว เราต้องเตรียมจิตใจให้พร้อมยอมรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็พยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ชั่วโมงการทำงานของฉันถูกจัดตามเวลาทำงานของนายกรัฐมนตรี ฉันจะไปรับนายกรัฐมนตรีในตอนเช้า เข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทราบว่าท่านจะสั่งการอะไร แล้วถ้าท่านมีวาระงานที่ไหนเราก็จะอยู่กับท่านตลอด ท่านลงพื้นที่ที่ไหนเราก็จะตามไปตลอด ฉะนั้นเราจะไม่มีตารางงานของตัวเอง ก็คือสละเวลาให้ท่านทั้งหมด เวลาเราอยู่ใกล้ท่านตลอดเราก็เลยกลายเป็นเป้าโดนโจมตีไปกับท่านด้วย เหมือนเป็นหน้าเสื่อที่ต้องคอยรับแรงปะทะให้ท่านด้วย
ManGu : จากโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานคนปัจจุบัน ผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง?
คุณนฤมล : ในปี 2563 ตอนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในพรรคและมีการปรับคณะรัฐมนตรี ภายหลังการประชุมหารือของสมาชิกพรรค ฉันก็ได้รับเลือกให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานตั้งแต่นั้น
ManGu : หลังจากที่คุณเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน คุณได้แนะนำนโยบายพิเศษอะไรบ้างไหม?
คุณนฤมล : ใช่ค่ะ มีนโยบายหลายอย่างที่ฉันต้องนำไปใช้เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพราะตัวฉันเองก็เคยอยู่ในความยากจนเช่นกัน ฉันมีโอกาสในวันนี้ได้เนื่องจากการสนับสนุนจากสวัสดิการด้านนโยบายของรัฐบาล ฉันจึงต้องการให้ผู้คนจำนวนมากขึ้นได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาล ฉันขอเสนอนโยบายช่วยเหลือผู้พิการเป็นอันดับแรก ปัจจุบันจำนวนผู้พิการที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยสูงถึง 2.5 ล้านคน แม้ว่ารัฐบาลจะกำหนดนโยบายสวัสดิการสำหรับคนพิการไว้แล้วก็ตาม แต่ตัวเลขนี้ก็ยังไม่เพียงพอ แม้ว่าจะมีกฎหมายกำหนดให้จ้างคนพิการหนึ่งคนจากจำนวนร้อยคน แต่ก็ยังมีคนพิการจำนวนมากที่ไม่มีงานทำ นอกจากนี้ยังมีปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับนายจ้างและลูกจ้างที่มีความทุพพลภาพซึ่งนายจ้างไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไรจึงจะจ้างคนพิการได้และคนพิการจำนวนมากต้องอยู่บ้าน เนื่องจากไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการแม้ว่าจะมีตำแหน่งที่เหมาะกับเขาแต่ก็ไม่สะดวกในเรื่องการเดินทาง พอไม่ได้จ้างงานคนพิการ นายจ้างก็เลือกที่จะจ่ายเงินเข้ากองทุนสำหรับคนพิการแทน แต่เงินตรงนี้กลับยังไม่ได้ไปถึงคนพิการจริง ๆ ส่วนใหญ่จะไปให้สินเชื่อคนพิการแทน ดังนั้นเราจึงต้องการจัดกิจกรรมและหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับคนพิการเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและทำให้พวกเขาตระหนักถึงคุณค่าในตนเองให้มากขึ้น ตอนนี้กำลังคุยกับทางกลต.ให้สื่อสารไปยังบริษัทต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ให้ลดการจ่ายเงินเข้ากองทุนและมีการจ้างคนพิการให้มากขึ้น
ManGu : นอกจากนโยบายพิเศษแก่ผู้พิการแล้ว ยังมีนโยบายอื่น ๆ อีกไหม?
คุณนฤมล : ฉันได้เรียนรู้จากนโยบายบรรเทาความยากจนของจีนเพื่อช่วยเหลือคนยากจนในประเทศไทย ฉันคิดว่านโยบายบรรเทาความยากจนของจีนที่ประสบความสำเร็จนั้นเป็นประสบการณ์ที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ หากประเทศไทยต้องการแก้ปัญหาความยากจน เราต้องไปเยี่ยมทุกครัวเรือนอย่างจริงจังเพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมคนถึงยากจน หากคุณไม่มีงานทำ คุณสามารถหางานสำหรับพวกเขาและพัฒนาทักษะให้กับประชาชนเหล่านั้นได้ การฝึกทักษะฝีมือแรงงานเท่านั้นที่จะพัฒนาได้ในระยะยาว ส่วนการช่วยเหลือในระยะสั้นที่เริ่มต้นเมื่อปี 2560 ก็คือนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของกลุ่มเปราะบางอย่างเช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ชาวนา และนักศึกษาที่เพิ่งจบการศึกษา โดยจะให้ผู้มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 100,000 บาทมาลงทะเบียนกับภาครัฐ ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนแล้ว 146,000 คน ประการที่สอง ปัญหาใหญ่ที่สุดที่คนยากจนเผชิญคือหนี้สิน เพราะรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ดังนั้นพวกเขาจึงต้องกู้เงิน ครอบครัวที่ยากจนบางครอบครัวไม่มีบัญชีธนาคาร ไม่มีเงินออม เขาจึงไม่มีโอกาสกู้ยืมเงินจากธนาคาร เลยกลายเป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งมักคิดอัตราดอกเบี้ยสูง นำไปสู่ปัญหาสังคมมากมาย ดังนั้นทางกระทรวงการคลังเองก็เข้ามาร่วมมือกับหน่วยงานความมั่นคงเข้าไปเจรจาเรื่องนี้ สิ่งที่กระทรวงแรงงานต้องทำคือกำหนดระเบียบนโยบายการคิดดอกเบี้ยของสถาบันเหล่านี้และการเปิดบัญชีธนาคารสำหรับคนยากจนมากขึ้น
ManGu : ในช่วงที่โรคระบาด กระทรวงแรงงานก็ประสบปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานต่างด้าว แรงงานไทย หรือเหตุการณ์สถานที่ก่อสร้างเมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงแรงงานแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร?
คุณนฤมล : ก่อนการระบาดของโควิด – 19 ครั้งที่ 2 แรงงานต่างด้าวบางส่วนเข้ามาทำงานในประเทศไทย แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนในระบบกระทรวงแรงงาน ตอนนี้ได้เปิดระบบให้ขึ้นทะเบียนแล้ว ปัจจุบัน แรงงานต่างด้าวประมาณ 500,000 ถึง 600,000 คนได้ขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จากผลกระทบของโควิด – 19 วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ร้านอาหาร และโรงแรมจำนวนมากได้ปิดตัวลง ผู้คนจำนวนมากกำลังเผชิญกับการว่างงาน กระทรวงแรงงานจำเป็นต้องช่วยเหลือคนเหล่านี้ บริษัทและแรงงานบางส่วนเรามีข้อมูลพื้นฐานในระบบกระทรวงแรงงานแล้ว แต่ยังมีบางบริษัทและแรงงานที่ข้อมูลไม่อยู่ในระบบของกระทรวงแรงงาน ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการเปิดช่องทางให้ทุกคนลงทะเบียนก็เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานนี้ได้ ร้อยละ 50 ของข้อมูลถูกเก็บรวบรวมไว้แล้ว
ManGu : นโยบายของกระทรวงแรงงานมีความร่วมมือกับหน่วยงานในจีนหรือไม่?
คุณนฤมล : มีหลายบริษัทที่ร่วมมือกับบริษัทจีน เช่น ลงนามใน "บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะดิจิทัล" กับ Huawei เราพัฒนาซอฟต์แวร์สองซอฟต์แวร์ร่วมกัน และ Huawei ได้จัดให้มีการฝึกอบรมด้านเทคนิคแก่เรา เพื่อให้ในอนาคตเราสามารถเขียนโค้ดและพัฒนาซอฟต์แวร์ได้ด้วยตัวเอง ตอนนี้กระทรวงแรงงานมีแผนกเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และ Huawei ฝึกอบรมผู้มีความสามารถให้เราและให้หลักสูตรการฝึกอบรมอื่น ๆ แก่เรา
ManGu : คุณเป็นคนเชื้อสายจีนหรือเปล่า
คุณนฤมล : ใช่ ปู่ย่าตายายของฉัน เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว มาจากประเทศจีนทั้งหมด พวกเขาเดินทางมายังประเทศไทยโดยทางเรือ ขณะนั้น จีนยังยากจนอยู่มาก เพื่อหนีความยากจน พวกเขาเข้ามาอาศัยในประเทศไทย ทางพ่อแม่ของแม่ฉันค้าขายที่ดิน และพ่อแม่ของพ่อฉันเปิดร้านกาแฟ งานของพ่อคือค้าขายและขายซีอิ๊วตราเด็กสมบูรณ์ แม่ของฉันขายอาหารกล่องเพื่อช่วยเหลือครอบครัว เพราะครอบครัวเรามีพี่น้องหลายคน มีพี่น้องหกคน พี่ชายสามคน และพี่สาวสองคน
ManGu : มีอะไรเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนดั้งเดิมในครอบครัวที่ยังคงรักษาไว้มาจนถึงตอนนี้ไหม?
คุณนฤมล : เมื่อฉันยังเด็ก ครอบครัวของฉันให้ความสนใจกับขนบธรรมเนียมประเพณีของจีนเป็นอย่างมาก เมื่อฉันยังเด็ก ฉันใช้ภาษาจีนแต้จิ๋วเพื่อสื่อสารกับพ่อแม่ เนื่องจากพ่อแม่ของฉันกลัวว่าฉันจะลืมภาษาจีนแต้จิ๋ว และรากเหง้าของเรา พ่อแม่ของฉันจึงยังคงใช้ภาษาจีนแต้จิ๋วเพื่อสื่อสารกับฉันมาถึงปัจจุบัน
ManGu : ในระหว่างที่คุณเติบโต คุณได้รับอิทธิพลจากคุณธรรมแบบจีนโบราณหรือไม่?
คุณนฤมล : ฉันกับแม่พูดถึงเรื่องกตัญญูกันมากที่สุด พี่น้อง ญาติพี่น้องควรดูแลกัน ญาติพี่น้องหลายคนในครอบครัวของฉันกระจัดกระจายไปตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น บางคนอยู่ในซัวเถา บางคนอยู่ในฮ่องกง และบางคนอยู่ในนิวซีแลนด์ แม้ว่าเราจะอยู่ห่างกันหลายพันกิโล แต่เรายังห่วงใยกันเสมอ เพราะเรามีนามสกุลเดียวกัน เป็นครอบครัวเดียวกัน และเกี่ยวข้องกันทางสายเลือด ครอบครัวยังให้ความสำคัญกับวันชาติจีนด้วย
ManGu : ปกติคุณยุ่งมากกับงาน คุณจัดสมดุลชีวิตและงานอย่างไร?
คุณนฤมล : สมัยเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีฉันแทบจะไม่มีเวลาส่วนตัวเลย ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย เพราะต้องตื่นแต่เช้ามาดูข่าวแล้วไปรับนายกฯ ตอนนี้ฉันมักจะตื่นนอนตอน 6:15 น. ออกกำลังกายที่บ้านประมาณหนึ่งชั่วโมงแล้วจึงทำงาน หากมีการประชุมคณะกรรมการงบประมาณฉันก็จะเข้าร่วมประชุม ถ้าไม่มีการประชุม ฉันจะกลับบ้านก่อน 19.00 น.
ManGu : คุณนฤมลชอบทำอะไรเมื่อมีเวลาว่าง? คุณนฤมลมีงานอดิเรกไหม?
คุณนฤมล : เมื่อไม่ได้ทำงานฉันมักจะอยู่บ้าน ออกกำลังกาย หรือทำอาหารให้ครอบครัว งานอดิเรกของฉันคือการอ่านหนังสือ ฉันมักจะซื้อหนังสือออนไลน์ ทั้งครอบครัวอ่านหนังสือด้วยกัน โดยกำหนดให้เด็กเล่นเกมได้หนึ่งชั่วโมงหลังจากอ่านหนังสือเสร็จ
ManGu : สุดท้ายนี้มีอะไรจะฝากถึงผู้อ่าน ManGu Magazine ไหม
คุณนฤมล : ฉันหวังว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 จะจบลงเร็ว ๆ นี้ ประเทศไทยคิดถึงพี่น้องชาวจีนมาก ๆ สมัยก่อนนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยทุกปี ไม่เจอกันเกือบสองปีแล้วเพราะโควิด – 19 ทีแรกนึกว่าปีนี้จะสามารถบินมาได้แล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถมาหากันได้ เชื่อว่าไม่เกินสิ้นปีนี้จำนวนคนฉีดวัคซีนในไทยจะถึง 70% หรือ 80% ตอนนั้นเราจะสามารถเปิดประเทศได้อย่างมั่นใจมากขึ้นเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง และหวังว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้งในไม่ช้านี้