news-details

MANGU Cover Story Issue 245 (1st December 2022) สัมภาษณ์ คุณอีฟ ทยา ทีปสุวรรณ “สตรีเหล็ก” แห่งวงการการศึกษาไทย ผู้ก่อตั้ง Rugby School Thailand และรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่15

     “การศึกษา” เปรียบเหมือนความหวังของสังคมและอนาคตของครอบครัว ในประเทศไทยมี "ผู้หญิง" ที่อุทิศตนให้กับวงการการศึกษาเพื่อบ่มเพาะความสามารถที่โดดเด่นให้กับประเทศไทยและทั่วโลก เธอคนนี้คือ อีฟ ทยา ทีปสุวรรณ

     คุณอีฟ ทยา ทีปสุวรรณ เธอมีจิตใจที่ไม่ย่อท้อ และบริหารโรงเรียนด้วยความรับผิดชอบอันเต็มเปี่ยม เมื่อเธออายุย่างยี่สิบ ในช่วงเวลานั้น เธอรีบเร่งเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายอย่างกล้าหาญ และสร้างเกียรติประวัติมากมายให้กับโรงเรียน ในวงการการศึกษา เธอไม่ได้จบด้านนี้โดยตรง เมื่อเข้าวงการมาก็เจอปัญหาหนักหนานับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็สามารถแก้ไขและผ่านมาได้ เพราะเธอมีนิสัยชอบฟัง ปรึกษารุ่นพี่และอาจารย์อยู่เสมอ และเธอได้รับประสบการณ์ชีวิตจากคนรุ่นก่อนมามากมาย ในสายตาของเพื่อนร่วมงาน เธอเป็นสุดยอดนักขับเคลื่อนทางการศึกษา เธอเชื่อมั่นว่าการศึกษานั้นควรมีความเท่าเทียมกัน เพื่อประโยชน์ของเยาวชน เธอยอมสละเวลาส่วนตัว และอุทิศตนเพื่อการศึกษา เธอทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำและทำหน้าที่ให้แก่เด็ก ๆ ด้วยใจจริง ในความคิดของนักเรียน เธอทำงานด้วยเหตุผล และทุ่มเทอย่างหนักให้วงการการศึกษาตั้งแต่เธออายุ 20 กว่าจนถึงปัจจุบัน เธอยังคงฟันฝ่าสิ่งต่าง ๆ เรื่อยมา

     คุณอีฟ ทยา ทีปสุวรรณ ไม่เพียงแต่เป็นนักขับเคลื่อนทางการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นนักการเมืองที่อ่อนน้อมถ่อมตนอีกด้วย เธอดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตั้งแต่ปี 2553 ถึง 2557 โดยมีหม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งท่านให้ความเห็นว่าเธอเป็นคนจิตใจดี พูดจาไพเราะ เธอทำงานหนักและไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรค ดังนั้น ท่านจึงมอบตำแหน่ง "รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร" ให้แก่ คุณอีฟ ทยา ทีปสุวรรณ นอกจากนี้เธอยังบริหารโรงเรียนรวม 437 แห่งและชุมชน 1,138 แห่ง และยังรับผิดชอบนโยบายด้านศิลปะวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ ด้วย แม้จะเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับเธอ แต่เธอกลับไม่ได้กังวลอะไร Jaspers นักปรัชญาชาวเยอรมันเคยกล่าวไว้ว่า "การศึกษาคือ ต้นไม้ต้นหนึ่งที่โอนเอนไปโดนอีกต้นหนึ่ง เมฆก้อนหนึ่งผลักเมฆอีกก้อนหนึ่ง วิญญาณดวงหนึ่งปลุกจิตวิญญาณอีกดวงหนึ่ง" ในสังคมนี้ประกอบด้วยจิตวิญญาณอีกมากมายไม่ใช่หรือ คุณอีฟ ทยา ทีปสุวรรณ เองก็ตระหนักดีว่า การให้ความรู้แก่จิตใจที่ดีเท่านั้นที่จะช่วยให้จิตวิญญาณของสังคมมีคุณภาพที่ดีขึ้นได้ ดังนั้นในสมัยที่คุณอีฟ ทยา ทีปสุวรรณ เป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้พบว่าในระบบการเรียนการสอนนั้นยังขาดการศึกษาเรื่องการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น เธอและทีมงานจึงรีบหามาตรการการวิจัยเชิงลึกและได้ดำเนินการเพื่อกำหนดเนื้อหาการสอนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังได้ส่งเสริมความก้าวหน้าครั้งสำคัญในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยร่วมการต่อต้านการทุจริต

    คุณอีฟ ทยา ทีปสุวรรณ ยังเป็นนักธุรกิจที่มีความสามารถ มีความคิดริเริ่มก่อตั้ง Rugby School Thailand โรงเรียน Rugby School เดิมเป็นโรงเรียนประจำแบบสหศึกษาที่ตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักรอังกฤษ เป็นหนึ่งในโรงเรียนรัฐบาลที่เก่าแก่ที่สุดในอังกฤษ ก่อตั้งในปี 1567 และเป็นแหล่งกำเนิดของกีฬารักบี้ คำว่า "Rugby" ในการวิเคราะห์ขั้นสุดท้ายของการจัดตั้ง Rugby Public School ในประเทศไทยเกิดขึ้นจากจิตวิญญาณอันแน่วแน่ของคุณอีฟ ทยา ทีปสุวรรณ การจัดตั้งโรงเรียนเป็นความคิดที่เกิดขึ้น เมื่อเธอส่งลูก ๆ ไปเรียนที่อังกฤษ เธอยอมรับว่าเธอชอบการศึกษาของอังกฤษมาก และเธอก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการศึกษาของประเทศไทยจะสามารถพัฒนาให้เป็นเหมือนกับการศึกษาในอังกฤษได้อย่างแน่นอน ดังนั้นเธอจึงเริ่มเดินทางไปโรงเรียนต้นแบบที่อังกฤษ ในช่วงของการเตรียมตัว เธอเดินทางไปกลับไทย - อังกฤษหลายครั้ง และพบกับความยากลำบากในช่วงเวลานั้น แต่ก็สามารถผ่านพ้นไปได้ คุณอีฟ ทยา ทีปสุวรรณ เองยังบอกด้วยว่าเหตุผลที่เลือกร่วมมือกับ Rugby School นั้นส่วนใหญ่เพราะเธอเชื่อว่าเด็กควรเรียนรู้ในทุก ๆ ด้านอย่างมีความสุข ปัจจุบัน Rugby School ในประเทศไทยยังอยู่ในกระบวนการพัฒนา และจะมีการขยับขยายเพิ่มเติมที่น่าจับตามองในอนาคต เพื่อก้าวเข้าสู่โลกของการศึกษา นักการเมือง หญิงแกร่ง และวงการธุรกิจไทย ติดตามได้ที่นิตยสาร "@ManGu Bangkok"

ManGu : การเติบโตที่อยู่ในครอบครัวของนักการศึกษาต่างจากเด็กทั่วไปอย่างไร?

Taya Teepsuwan : จริง ๆ มีการรับฟังเรื่องราวการศึกษามาตั้งแต่เด็ก ๆ เลย เพราะธุรกิจแรกของคุณแม่คือทำโรงเรียน พ่อแม่ทำธุรกิจด้วยกัน เริ่มแรกก็มีการจับฉลากเพื่อเลือกที่ดินของคุณย่าตรงบริเวณพระโขนง จริง ๆ แล้วอาชีพของคุณแม่คือครูสอนเปียโน แล้วเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ก็ถือว่าเป็นโรงเรียนเอกชนแรก ๆ ที่เกิดขึ้น เลยได้ซึมซับการศึกษาส่วนตรงนี้มา เราได้เห็นคุณแม่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษาแล้วก็อยู่กับเด็ก ๆ แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็เป็นนักการเมืองด้วย เลยได้มีโอกาสพูดคุยกันในเรื่องธุรกิจของโรงเรียน เรื่องการเมือง โดยส่วนตัวเรามีนิสัยรักเด็กด้วย เป็นน้องคนสุดท้องก็เลยได้เล่นกับเด็ก ๆ หลังจากที่เรียนจบก็กลับมาทำงานเป็นลูกจ้างในธนาคารไทยพาณิชย์ก่อน และพอเกิดเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ทางบ้านก็เลยให้กลับมาช่วยงานทางธุรกิจของครอบครัว การจัดการ เรื่องเงินกู้ Bank อะไรต่าง ๆ แล้วก็มานั่งคุยกันในครอบครัวว่าแต่ละคนอยากทำอาชีพอะไร เราเลยเลือกว่าอยากทำธุรกิจเกี่ยวกับการศึกษา ส่วนพี่อีกคนก็ไปดูในส่วนของธุรกิจของโรงแรม ธุรกิจอุตสาหกรรม ธุรกิจร่วมทุนกับญี่ปุ่น หลังจากที่เราเลือกทำเกี่ยวกับการศึกษา เขาก็ให้เราเข้าไปดูงานในโรงเรียน ตอนนั้นก็เหมือนเป็นงานที่ 2 ของชีวิต เราก็อายุ 24-25 ปี แล้วต้องอยู่กับผู้ใหญ่ทรงคุณวุฒิหลาย ๆ ท่าน ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่เราประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นการแก้วิกฤตการเงิน ความท้าทายต่าง ๆ ก็เรียนรู้ไปพร้อมกับสิ่งที่เกิดในช่วงนั้น ทำโรงเรียนไปสักพัก ประมาณช่วงปี 2553 คุณชายสุขุมพันธ์ก็ได้รับเลือกเป็นผู้ว่ากรุงเทพฯ แล้วจากการที่เขาเห็นเราเป็นคนชอบคุยกับคน ชอบเข้าถึงคน เห็นเรามีประสบการณ์เกี่ยวกับธุรกิจโรงเรียน เลยชวนเรามาเป็นรองผู้ว่าดูแลเรื่องการศึกษา การท่องเที่ยวพัฒนาสังคม ตอนนั้นก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่เข้ามาในชีวิต ในช่วงอายุ 35-36 ปี พอดูในส่วนของเนื้องานก็เป็นสิ่งที่เราชอบอยู่แล้ว จาก 1 โรงเรียน กลายเป็น 437 โรงเรียน ชุมชนอีก 1,138 ชุมชน มีเรื่อง นโยบายการต่างประเทศ นโยบายการท่องเที่ยวศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งเป็น 4 ปีที่ได้ประสบการณ์ ได้รับความสนุก ได้พัฒนาตัวเอง การที่ได้ดูแลโรงเรียน 400 กว่าแห่ง เป็นอะไรที่ท้าทายมาก เพราะเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียมกันมากที่สุด แต่คงไม่ได้เท่าเทียมกันทั้งหมด ซึ่งรวมกับเอกชนด้วย แล้วเราได้มีโอกาสเข้าไปดูนโยบายภาคใหญ่ว่าจะทำยังให้เด็กที่เข้ามาเรียนอยู่ในกรุงเทพฯ มีคุณภาพการศึกษาที่ดี มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี หลักสูตรต้องได้มาตรฐาน ครูต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นกัน ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดี หรือแม้แต่สวัสดิการของครู อย่างเช่นจากอาหารเช้าที่ไม่เคยมี เราก็ไปออกนโยบายทำโครงการอาหารเช้า ทำหลักสูตรโตไปไม่โกงด้วย ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังอยู่ เหมือนกับว่าประสบการณ์ที่เราเคยดูแลมาแค่ 1 โรงเรียน ภายใน 4 ปี เราได้ประสบการณ์เยอะขึ้น แล้วก็ทำให้เราสนุกกับสิ่งที่ทำด้วย เพราะอยากเห็นเด็ก ๆ มีการพัฒนา คุณภาพชีวิตที่ดีจะเริ่มตั้งแต่เด็ก นั่นคือมีการศึกษาที่ดี เราอยากเห็นครูที่มีความสามารถและนำไปถ่ายทอดให้เด็กได้ ถ้าถามว่าเราจบด้านการศึกษาตลอดไหม จริง ๆ เราไม่ได้จบทางด้านการศึกษา แต่จบมาทางด้านเศรษฐศาสตร์ เกี่ยวกับ Management Information System ซึ่งประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานคือการทำงานด้วยมือเราเอง ด้วยตัวเองทั้งหมด มันก็ทำให้เราเป็นคนที่สนใจด้านการศึกษา

 

ManGu : ตอนที่รับมือกับการบริหารในส่วนของโรงเรียน ตอนที่ท่านมีอายุ 20 ปี จากที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการศึกษาเลย แล้วการทำงานของท่านมีการปรับตัวอย่างไง แล้วอะไรเป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุด?

Taya Teepsuwan : แน่นอนว่าการที่เป็นผู้นำขององค์กรตั้งแต่อายุน้อย ๆ มีทั้งข้อดีและเสีย แต่หลัก ๆ คือการเป็นผู้นำที่เป็นผู้ฟังที่ดี พร้อมที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นของคนที่มีประสบการณ์ แล้วก็ People Management Skill เป็นที่ให้ความสำคัญ และสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด คือการที่เราให้ใจกับเพื่อนร่วมงาน ให้กับครู เราอยากเห็นโรงเรียนเป็นแบบไหน เราก็ตั้งเป้าหมาย ไม่เน้นทำงานคนเดียวแต่เน้นการทำงานเป็นทีม รับฟังผู้ใหญ่ รับฟังครูผู้น้อยด้วย มีการประชุมกับครูทุกระดับ เราเป็นคนชอบฟังความเห็นของคนอื่นแล้วเอามากลั่นกรอง เอามาบวกกับสิ่งที่เราอยากให้มันเกิด เพื่อให้ออกมาเป็นนโยบาย ถ้าเราทำให้เขาได้มีส่วนร่วมกับความสำเร็จหรือเป้าหมายนั้น ๆ ก็จะทำให้อะไรต่าง ๆ มันง่ายขึ้น แต่แน่นอนว่าการฟังความคิดเห็นต่าง ๆ จากคนอื่น จะมีอุปสรรคในด้านความคิดที่ต่างกันด้วย แต่อาจจะเพราะเราเติบโตมากับคุณพ่อคุณแม่ที่ทำงานทุกวัน เราเลยมี Management Skill ระดับหนึ่งที่จะสามารถดึงคนที่เข้ามาร่วมกันทำงานในองค์กรได้อย่างมีความสุข เหมือนการที่ให้ใจเขาใจเรา

ManGu : แล้วการที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนกับผู้จัดการโรงเรียน มีความแตกต่างอย่างไร?

Taya Teepsuwan : ผู้จัดการโรงเรียนจะดูแลในเรื่องของการศึกษา การเงิน การจัดซื้อ การจัดการ การซ่อมบำรุงการตลาด ซึ่งเราจะดูกว้างกว่าผู้อำนวยการโรงเรียน สิ่งที่สำคัญคือ เด็กต้องได้การศึกษาที่ดีที่สุด การลงทุนภาพรวมการศึกษาต้องเต็มที่ งบประมาณอะไรต่าง ๆ ด้วย เช่น งบประมาณแต่ละปีเราทำอะไรได้แค่ไหน  ซึ่งมันเป็นภาพรวมที่ต้องเอามาให้ครบองค์ แล้วมันฝึกทักษะของเราในด้านการดูแลการจัดการหลาย ๆ เรื่อง เช่น การดูการพัฒนาของเด็กในด้าน EQ และ IQ เด็กมีคะแนนยังไงหลังเรียน มีความสุขไหม รวมถึงภาพต่าง ๆ ที่เราต้องดูเกี่ยวกับโรงเรียน เพราะโรงเรียนคือบ้านที่คนอยู่เป็น 1,000 คน และสิ่งสำคัญที่สุดคือหัวใจของเด็ก ซึ่งอันนี้เราย้ำกับผู้บริหารทุกคนว่า Student come first เด็กต้องได้สิ่งที่ดีที่สุด

 

ManGu : ช่วงที่เป็นรองผู้ว่าฯ กับซัพพอร์ตโรลมีความแตกต่างกันไหม? รู้สึกอย่างไรบ้าง?

Taya Teepsuwan : แตกต่างกันมาก จริง ๆ เราอาจจะเป็นผู้หญิงที่ทำงานตั้งแต่อายุน้อย เราเลยไม่ค่อยมีความเป็นแม่บ้านแม่เรือนเท่าไร ดังนั้นในด้านการซัพพอร์ตสามี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการงาน การเมือง การวางแผนในชีวิตที่เขาอยากไปถึง จะต้องวางสเตปในการเดินทางเป้าหมายทางการเมือง ซึ่งมันก็เป็นหน้าที่ของภรรยา ส่วนอีกหน้าที่หนึ่งคือการเป็นคุณแม่ช่วยเลี้ยงลูก ดูแลบ้าน ให้เขากลับมาแล้วรู้สึกแฮปปี้ ลูก ๆ ทุกคนไม่ได้รู้สึกขาดอะไร เพราะคุณพ่อเป็นนักการเมือง แต่ก็ไม่ได้ขนาดว่าอยู่กับลูกทั้งวัน ซึ่งส่วนนี้ลูกก็จะเข้าใจ แล้วในส่วนของภรรยาก็เป็นกำลังใจให้สามีที่เป็น ส.ส. คือช่วยให้คำแนะนำ ช่วยไปหาเสียง ช่วยไปแจกโบชัวร์ ขึ้นรถปราศรัย  คุยกับแม่ค้าพ่อค้า ฟังนโยบาย เหมือนกับเป็นทีมหาเสียงเลย พูดง่าย ๆ ว่าเป็นคู่คิดให้สามี ทีนี้พอมาทำเองก็คิดหนัก เพราะสามีก็เป็นส.ส. เป็นผู้อำนวยการพรรค เราก็จะมาเป็นรองผู้ว่าฯ ซึ่งหนักกว่าส.ส. อีก เพราะงานก็แทบจะ 7 วันเลย แต่สุดท้ายเราก็เป็นคนที่ชอบความท้าทาย บวกกับที่เขาเลือกเรามาทำงานด้วย ไว้วางใจเรา เลยไม่อยากเสียดายอะไรทีหลัง ก็เลยรับทำหน้าที่รองผู้ว่า 4 ปี ข้อดีอย่างเดียวของการเป็นนักการเมือง คือ สามารถที่จะทำนโยบายที่คิดและอยากเห็นจริง ๆ ให้กับสังคมในภาพรวมและภาคใหญ่ ระดับเมือง ระดับประเทศ  มีงบประมาณให้เราได้ทำในสิ่งที่เราคิดกลั่นกรองออกมาเพื่อประชาชน มีข้าราชการที่ทำงานร่วมกับเรา ช่วยเราทำ สั่งการได้ มีแผนก มีสำนักต่าง ๆ นั่นคือข้อดีของนักการเมือง แล้วทำให้เราเห็นว่าคุณชายสุขุมพันธ์ให้เกียรติเรามากด้วยในการลงมือทำงานในฐานะข้าราชการ ซึ่งตอนนั้นเราก็ท้าทายมาก เพราะเราเด็กมาก แต่ได้มีโอกาสร่วมงานกับข้าราชที่อายุ  50-60 ปี แล้วส่วนตัวเราคิดว่าการที่เราทำอะไร เราเป็นตัวของตัวเองดีที่สุด และเชื่อมากที่สุดในเรื่องของการให้เกียรติผู้ร่วมงานทุกคนไม่ว่าเขาจะอยู่ระดับไหน เพราะถ้าเราให้เกียรติเขา เขาก็จะให้เกียรติเรากลับ แล้วรู้สึกว่าอุปสรรคน้อยมากสำหรับเด็กที่ไม่มีประสบการณ์และสามารถที่จะเข้าไปอยู่ตรงนั้นได้

ManGu : หลังจากการเป็นรองผู้ว่าฯ แล้ววางมือแล้วก็กลับมาเป็นผู้จัดการโรงเรียนศรีวิกรม์เหมือนเดิมไหม?

Taya Teepsuwan : จริง ๆ ตอนนั้นเราเริ่มทำความร่วมมือกับทางเซนต์แอนดรูว์ ซึ่งตอนนั้นโรงเรียนศรีวิกรม์อยู่ในช่วงที่ต้องปรับตัวเยอะ เพราะเป็นโรงเรียนไทยที่มี English Program ด้วย ตอนนั้นโรงเรียนก็มีมาประมาณเกือบ 50 ปีแล้ว ต้องปรับปรุงอะไรเยอะมาก มันกลายเป็นว่าเงื่อนไขของเรามันอยู่ตรงกลาง จะรัฐก็ไม่รัฐ จะอินเตอร์ก็ไม่เชิง เราเลยถูกกดดันด้วยบางส่วน เลยเลือกที่จะต้องปรับไปในทิศทางเดียวกัน จึงคุยกับทางครอบครัวว่าจะเอาทุนจำนวนหนึ่งมาเปลี่ยนเป็นโรงเรียนอินเตอร์เลยไหม แล้วตอนนั้นเซนต์แอนดรูว์ชอบที่ดินของเราด้วย เพราะติดกับรถไฟฟ้า แล้วให้เพื่อนของเพื่อนมาติดต่อเรา เลยมีโอกาสได้คุยก็ทำให้รู้ว่าเราสามารถทำอะไรด้วยกันได้นะ เราเลยเลือกที่จะเปลี่ยน English Program   มาเป็นโรงเรียนอินเตอร์ และใช้ชื่อ เซนต์แอนดรูว์ ศรีวิกรม์  แคมปัส เขาก็ทำดีมาก แล้วพอดีว่าที่ตรงนี้คุณพ่อสามีก็ทยอยซื้อไว้ตอนเป็น 1,400 ไร่ แล้วตอนนั้นก็มีเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ในแถบตะวันออก หรือเรื่องของการนิคมอุตสาหกรรมจะเข้ามามากขึ้น เขาเคยมาถามเราว่าอยากทำอะไร เราเลยคิดว่าอยากทำโรงเรียนก่อน เพราะโรงเรียนมันคือการสร้าง community แล้วเขาก็พร้อมซัพพอร์ตด้วย

 

ManGu : แนวคิดที่จะนำเอา Rugby School  เข้ามาตรงนี้ เดิมคือมีที่ดินแล้วอยากทำโรงเรียน แล้วคิดไหมว่าอยากทำให้โรงเรียนเป็นรูปแบบไหน? แนวคิดไหมว่าจะเป็นรูปเป็นร่างประมาณกี่ปี?

Taya Teepsuwan : จริง ๆ เป็นคนคิดอะไรแล้วต้องทำเลย เพราะภาพมันชัดมาก มันอยู่ในหัวมาตลอด ตอนนั้นก็ส่งลูกไปเรียนที่อังกฤษแล้ว ด้วยความที่เราชอบการศึกษาของอังกฤษ เราเลยไปดูโรงเรียนของลูกไว้เยอะมาก ทุกครั้งที่เราไปดูก็คิดว่าทำไมเมืองไทยไม่มีโรงเรียนแบบนี้นะ เราเลยคิดภาพในหัวแล้วพูดเลยว่าอยากเป็นแบบนี้ เราอยากมีแบรนด์ เพราะคนไทยเชื่อถือแบรนด์ ก็เลยศึกษาดูว่าจะเป็นแบรนด์ประมาณไหน แล้วบังเอิญได้มีโอกาสไปพูดคุยกับผู้ปกครองเพื่อนลูกที่อังกฤษ แล้วช่วงนั้นเขาก็หาที่ดินในประเทศไทยทำโรงเรียนด้วย ซึ่งพอดีกับที่เรามีที่ แต่ไม่มีคนช่วยดำเนินการ สนใจมาทำด้วยกันไหม เขาก็บินมาดูที่ เราก็บอกว่าอยากให้ตรงนี้เป็นโรงเรียนแบบไหน อะไรอย่างไรบ้าง เราอยากให้โรงเรียนมีความแตกต่างกับโรงเรียนในประเทศไทยอย่างไร เราเลยไปพรีเซนต์ 14 โรงเรียนที่อังกฤษ แล้วมีการตอบรับมาประมาณ 12 โรงเรียน ก็ถือว่าประสบความสำเร็จมาก แล้วเราก็มานั่งเลือกกัน แล้วเรารู้สึกว่า Rugby School  ยังไม่เคยออกไปเปิดที่ไหนเลย รวมถึงเป็นโรงเรียนที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาในหลาย ๆ ด้าน ไม่ใช่การติวอย่างเดียว รวมถึงการมีเป้าหมายที่ชัดเจน และให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเด็กยากจนด้วย เพราะเด็กในโรงเรียนมาจากครอบครัวที่หลากหลาย ซึ่งพอเรามาดูแนวคิดอะไรต่าง ๆ ว่าจะไปกันรอดไหมกับการร่วมมือทางธุรกิจ เพราะเขาก็ใหม่กับการออกนอกประเทศ แต่สุดท้ายเราก็เลือกร่วมมือกับ Rugby School  ซึ่งทุกวันนี้เราก็รักกันมาก เขาก็มาทุก ๆ  2-3 อาทิตย์ มาดูในเรื่องของดีไซน์ เรื่องคอนเซปอะไรต่าง ๆ เรื่องก่อสร้าง ส่วนประกอบ รายละเอียดอะไรต่าง ๆ แม้กระทั่งการสัมภาษณ์ผู้บริหาร ระดับหัวหน้า ระดับ CFO ระดับ COO หัวหน้าการตลาดหรืออื่น ๆ คือต้องสัมภาษณ์ด้วยกันหมด ซึ่งเราถอดแบบเรื่องการเรียนการสอนมาจากที่นั่นเลย ยกเว้นในเรื่องของ House System เพราะบางทีเรามี Day School หรือ Day House ด้วย แต่เราเน้นในเรื่องของ Day School เป็นหลัก ส่วนที่เหลือก็ไม่ต่างกันมาก

ManGu : แล้วคิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่แตกต่างชัดเจนระหว่างโรงเรียนในเมืองไทยทั่วไปและ Rugby School ?

Taya Teepsuwan : ก็เยอะนะคะ เช่น โรงเรียนอื่นเลิกเรียน 15.30 ส่วนของเราเลิกเรียน 17.50 เราคล้าย ๆ กับที่อังกฤษ เพราะทำทุกอย่างจบในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬา ว่ายน้ำ เทนนิส ดนตรี บัลเล่ต์หรือการสอนพิเศษต่าง ๆ พูดง่าย ๆ ว่าจบในโรงเรียน แล้วอีกอย่างคือการจราจรไม่ได้ติดเหมือนในกรุงเทพฯ เด็กจึงไม่เสียเวลาในการใช้ชีวิตอยู่บนรถ 1 คลาสจะไม่เกิน 20 คน มีการแยกเด็กระดับโตเล็ก และที่สำคัญคืออยู่กับพื้นที่สีเขียว ได้อยู่กับธรรมชาติ เน้นกิจกรรม Outdoor เด็กไม่ได้แค่เรียนในห้อง มีครูพาไปดูนก แมลง นั่นนี่ด้วย แต่ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ ต้องทำประกันอะไรหลายอย่างเวลาเดินทาง ส่วนเรามีทุกอย่างเพราะโรงเรียนเหมือนเป็นบ้านหลังที่สองของเขา อย่างที่บอกว่า Student Come First คุณภาพชีวิตของเด็กต้องดี ถ้าเด็กมีความสุข เขาก็จะเรียนรู้ได้เร็ว ให้เด็กมีความสุข ให้ปล่อยพลัง ให้ได้มีการเลือกกิจกรรมที่ตรงกับความต้องการ นี่ก็คือข้อแตกต่างจากโรงเรียนอื่น ๆ

 

ManGu : คิดว่าในอนาคต 5-10 ปีตั้งเป้าหมายอย่างไร ?

Taya Teepsuwan : สำหรับโรงเรียนอยากให้เป็น One of the top international school in Asia แล้วจำนวนเด็กในโรงเรียนตอนนี้ก็ประมาณ 1,000 คน จากเป้าหมาย 1,350 คน ก็ไม่ไกลเกินเอื้อมในส่วนของตัวเอง ส่วนความฝันของเราคืออยากสร้างตรงนี้เป็นเมืองคุณภาพชีวิต เพราะเรามีพื้นที่ 1,400 ไร่ เมื่อโรงเรียนลงตัวเราก็จะทำพื้นที่สำหรับกิจกรรมการวิ่ง แล้วทำเป็นลานสเก็ต ทำเป็น Outdoor Activity ของเมืองไทย มีกิจกรรมสำหรับ Family เรียกได้ว่าสร้างเมืองเล็ก ๆ ในส่วนของตรงนี้  ในอีก 5 ปี คงเป็นส่วนที่ใหญ่ขึ้น และอีก 5 ปีคงไม่มีการ Retire เพราะคงเบื่อแย่ (ขำ) เอาง่าย ๆ ว่าอาจจะมีอะไรมากขึ้น แต่หลัก ๆ ก็คือสร้างเมือง

 

ManGu : หลังจากช่วงโควิด จะมีคนบางคนว่านานาชาติบางที่จะมีผลกระทบกับการเมืองโลก ที่นี่มีการจัดการกับนักเรียนอย่างไร?

Taya Teepsuwan :  จริง ๆ เรามีการจัดการในส่วนของตรงนี้ได้ดี เรื่องของครูปกครองจะให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก จะไม่มีการแบ่งแยกว่าชาติไหนหรือยังไง เช่น สงครามของรัสเซียหรือยูเครน เราก็ไม่ได้ให้เขาแบ่งชาติกัน แต่เราก็ป้องกันไว้ก่อน เพื่อให้เขาเข้าใจว่าไม่ควรเอามารวมหรือแบ่งแยกอะไร แล้วคนต่างชาติเราก็เยอะมาก ในเรื่องของการโดนแกล้งกัน ในส่วนนี้เราก็ให้ความสำคัญมาก และจะไม่ทำให้เกิดขึ้นด้วย

ManGu : สุดท้ายมีอะไรอยากฝากถึงผู้อ่านชาวจีนบ้างไหม?

Taya Teepsuwan : จริง ๆ คนจีนก็เป็นนักท่องเที่ยวที่เราอยากให้มาเที่ยวเมืองไทยกันเยอะ ๆ เราก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกันมานานแสนนาน เพราะช่วง 3 ปีนี้เลยไม่ได้เจอชาวจีน อยากให้คนจีนมาเที่ยวเมืองไทยเยอะ ๆ ค่ะ ส่วนผู้ปกครองคนจีนที่อยากให้ลูกเรียนอินเตอร์ แล้วไม่ได้ไกลจากประเทศจีน ก็อยากให้ลองเปิดใจให้กับ Rugby School Thailand ซึ่งจริง ๆ โรงเรียนเรามีนักเรียนจีนเยอะมาก ประมาณ 15% หรือ ประมาณ 100 กว่าคนด้วย

 

Thank you.

Taya Teepsuwan (Eve) / ทยา ทีปสุวรรณ (อีฟ)

 

Photographer : Iponz Saenuwong 
Coordinator : Nopparada Meimei @nopparamei
Graphic Designer :  Satamed Kunawattana @Pdillustrator
Column Writer : Zou SiYi @joy_zz97 / Sheldon Chan @sheldonchan1116

You can share this post!

MANGU Cover Story Issue 245 (1st December 2022) สัมภาษณ์คุณ บรูซ กรินเลย์ ผู้อำนวยการ Rugby School Thailand

MANGU Cover Story Issue 244 (15th November 2022) สัมภาษณ์ คุณมีนา อัครพงศ์พิศักดิ์ ผู้ช่วยประธานบริหารด้านการตลาด ของ บริษัท เบอร์แทรม (1958) จำกัด