news-details

MANGU E-Magazine Cover Story Issue 251 (1st March 2023) พบกับ คุณพจนา พะเนียงเวทย์ ตำแหน่ง กรรมการบริษัท และกรรมการธรรมาภิบาลและบริหารความเสี่ยง บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน), กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพรสซิเดนท์อินเตอร์ฟูด จำกัด

ย้อนเวลา เบื้องหลังบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเจ้าแรกๆ ในไทย
สัมภาษณ์ลูกสาวผู้บุกเบิก “มาม่า” แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสัญชาติไทย
คุณพจนา พะเนียงเวทย์ ตำแหน่ง กรรมการบริษัท และกรรมการธรรมาภิบาลและบริหารความเสี่ยง บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) , กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพรซิเดนท์อินเตอร์ฟูด จำกัด

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” เป็นสัญลักษณ์ของ "แม่" เพราะว่าแม่เป็นคนที่ทำอาหารอร่อยที่สุด และทำให้เราคิดถึงการรับประทานอาหารที่แม่ทำ พจนา พะเนียงเวทย์ พูดถึงเหตุผลที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” จึงตั้งชื่อเช่นนั้น  บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ไม่ว่าจะในแง่ของรสชาติ หรือความหมายทางวัฒนธรรม เปรียบเสมือนหนังสือเล่มหนึ่งที่บันทึกประวัติศาสตร์ของไทยไว้  เพียงแค่รับประทานมาม่า 1 คำ ทำให้รู้สึกเหมือนย้อนอดีตที่ผ่านมาของไทย เป็นประวัติศาสตร์ที่ยากจะลืมเลือน

ในปี พ.ศ. 2515 เศรษฐกิจแบบเกษตรกรรมของไทยเริ่มลดน้อยลง และก้าวเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรม  ด้วยการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ ทำให้สินค้าส่งออกของไทยจึงได้การยอมรับเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. 2515 นับว่าเป็นปีแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย  ชีวิตสมัยใหม่ที่วุ่นวายทำให้เกิดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และความกดดันในการทำงานก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เวลาเป็นสิ่งที่มีค่ามาก ดังนั้นหลายๆคนจึงต้องการอาหารที่สะดวกและรวดเร็วในช่วงเวลาที่เร่งรีบ

พิพัฒ พะเนียงเวทย์ ชาวจีนสัญชาติไทย เห็นโอกาสที่ดีทางธุรกิจ ในสังคมที่เน้นความเร็ว เขาทราบถึงความต้องการของคนยุคสมัยใหม่ จึงตัดสินใจเปลี่ยนความคิดของเขาให้เป็นจริง และสร้างแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” เขาหวังว่า “มาม่า” จะเป็นอาหารที่สะดวกและรวดเร็วแก่ผู้คน และหวังว่าจะทำให้แบรนด์นี้ให้เป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ ณ ขณะนี้ คุณพจนา พะเนียงเวทย์ ลูกสาวของคุณพิพัฒ พะเนียงเวทย์ ได้เข้ามาทำงานในเพรซิเดนท์อินเตอร์ฟูด

เธอได้รับอิทธิพลจากพ่อของเธอ มีความกระตือรือร้นในการทำธุรกิจ และพบว่าการทำธุรกิจเป็นอาชีพที่น่าตื่นเต้นและคุ้มค่า เมื่อเวลาผ่านไป คุณพจนา พะเนียงเวทย์ ยังคงพัฒนาศักยภาพของเธออย่างต่อเนื่อง ทำให้แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” เจริญรุ่งเรืองมากขึ้นเรื่อยๆ

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” เป็นไข่มุกที่แสนจะแพรวพราวในวัฒนธรรมอาหารไทย อีกทั้งอิทธิพลของมันแผ่ขยายไกลออกไป มาม่า ไม่ใช่แค่อาหารที่ทั้งสะดวกและรวดเร็ว แต่ยังเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมอาหารไทย มีของว่างหรืออาหารหลากหลายชนิดที่ทำด้วยมาม่า เช่น ยำมาม่า ผัดมาม่า เป็นต้น ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในร้านอาหารริมทางของประเทศไทย

คำว่า "มาม่า" คำนี้มีความหมายลึกซึ้งยิ่งขึ้นในภาษาไทยและกลายเป็นคำที่คนไทยใช้เรียกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด  บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ “มาม่า” ครองตำแหน่งสำคัญในวัฒนธรรมอาหารไทย ความสำเร็จได้ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมอาหารไทย และอยู่ในความทรงจำของคนไทยตลอด  บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ไม่ได้เป็นเพียงแค่บะหมี่ชนิดหนึ่งอีกต่อไป แต่คงความเป็นวัฒนธรรม ความรู้สึก และความทรงจำอีกด้วย

อิทธิพลของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ค่อยๆ แพร่หลายไปทั่วโลก  เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วที่มาม่าเริ่มต้นเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ และสินค้าได้กระจายไปยังทุกทวีปทั่วโลก รวมถึงจีน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ กัมพูชา และ อีก 68 ประเทศ  อีกทั้งยังประสบความสำเร็จในการตั้งฐานการผลิตในฮังการี บังกลาเทศ เมียนมาร์ กัมพูชา และประเทศอื่นๆ

ขณะนี้ “มาม่า” กำลังพยายามใช้นโยบาย One Belt One Road เพื่อเปิดตลาดใหม่และขยายฐานการผลิตในประเทศต่างๆ ตลอดเส้นทาง  อิทธิพลและภาพลักษณ์ของแบรนด์ “มาม่า” ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางทั่วโลก จนกลายเป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์บะหมี่ที่มีชื่อเสียงในระดับสากลในที่สุด  ความสำเร็จของมาม่า ได้สะท้อนถึงวัฒนธรรมอาหารไทย แนะนำให้คนทั่วโลกรู้จัก เพิ่มความเข้าใจของผู้คนเกี่ยวกับวัฒนธรรมอาหารไทย และขยายอิทธิพลของประเทศไทยในตลาดต่างประเทศ

ในปี พ.ศ.2566 เป็นปีแห่งการครบรอบ 51 ปีของการก่อตั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ในช่วง 51 ปีที่ผ่านมาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาและความรุ่งเรืองของประเทศไทย  ไม่เพียงแค่เป็นตัวแทนของอาหาร แต่ยังเปลี่ยนแปลงประเทศไทยอย่างแท้จริง

ใน “นิตยสาร @ManGu” ฉบับนี้ คอลัมน์ Cover Story ได้เชิญคุณพจนา พะเนียงเวทย์ ลูกสาวของผู้บุกเบิกแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสัญชาติไทย “มาม่า” พาคุณไปท่องเรื่องราวของชามบะหมี่ เปลี่ยนประเทศ

 

 

ManGu: คุณเรียนจบด้านสถาปัตย์นิเทศศิลป์และคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ คุณเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจได้อย่างไร?

พจนา พะเนียงเวทย์: ตอนเด็กๆประทับใจคนที่เรียนสถาปัตย์ เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสถาปัตย์คืออะไร รู้อย่างเดียวว่าเราต้องเข้าสถาปัตย์ เพราะคนที่เราชอบเขาเท่ห์มากเลย ตอนนั้นโชคดีอย่างหนึ่ง คือตอนนั้นที่สอบสถาปัตย์นิเทศศิลป์ เราวาดรูปเป็นอย่างเดียวคือรูปคน ตอนนั้นการสอบคือการวาดรูปคน หลังจากเข้าเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เราเข้าไปตอนแรกรู้สึกตกใจ เพราะว่าเพื่อนวาดรูปเก่งกันหมดเลย การแข่งขันก็สูงมาก ต่อมาเมื่อเราเรียนปริญญาโท ตอนแรกสมัครเรียนสาขา Film making เพราะอยากทำหนังและถ่ายทำเอง แต่ตอนนั้นคนเรียนเอกนี้น้อยมาก มีเราคนเดียวที่สมัคร อาจารย์เลยให้เปลี่ยนวิชาเอก และสุดท้ายก็เปลี่ยนเป็นคอมพิวเตอร์กราฟิกส์

 

ManGu: หลังจากเรียนจบ และกลับมาประเทศไทยคุณได้เข้าทำงานที่มาม่าเลยไหม?

พจนา พะเนียงเวทย์: ตอนแรกไปทำงานที่บริษัทโฆษณาได้ประมาณ 1 ปี หลังจากนั้นก็มาทำงานที่มาม่า เพราะว่าคุณพ่ออยากให้เรากลับมาช่วยงาน ตอนเด็กๆก็ไม่เคยคิดว่าจะมาทำงานของครอบครัว เพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพูดไม่เก่ง ไม่ชอบขายของ รู้สึกอายถ้าต้องบอกให้คนมาซื้อของ

 

ManGu: คุณพ่อของคุณตัดสินใจเริ่มแบรนด์ “มาม่า” เมื่อไหร่? ในไทยตอนนั้นมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้ออื่นเยอะไหม?

พจนา พะเนียงเวทย์: จำได้ว่าคุณพ่อมาร่วมงานที่ มาม่า ตอนที่ตัวเองอยู่ ป.4 หรือ ป.5 ต้องบอกว่าคุณพ่อไม่ได้เป็นคนก่อตั้งตอนต้นนะคะ จะเป็นการร่วมหุ้นของไต้หวัน ทางสหพัฒน์ และคุณเจน ในประเทศไทยเราไม่ใช่บริษัทแรกที่ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เจ้าแรกจะเป็นซันวา โคคาส่วนมาม่า ยำยำ และไวไว เกิดพร้อมๆกัน อาจจะเป็นพี่น้องกันไม่กี่เดือน สมัยนั้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปราคา 2 บาท และบะหมี่ที่เรากินตามท้องตลาด หรือตามร้าน 1 บาท 50 สตางค์ ตอนแรกๆต้องเป็นคนมีเงินที่จะสามารถทานได้ อีกอย่างหนึ่งคือคนไม่เคยชินที่จะกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพราะว่าแค่เทน้ำร้อนก็ทานได้เลย เขายังเคยชินกับการที่ออกไปทานบะหมี่ชามหนึ่งที่มีเนื้อสัตว์ อะไรพวกนี้ค่ะ แต่เนื่องจาก Lifestyle ของคนในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป เขาก็ต้องการสินค้าที่มันรวดเร็วมากขึ้น

 

 

ManGu: บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” รสแรกคือรสอะไร?

พจนา พะเนียงเวทย์: รสซุปไก่ค่ะ ที่ต่างประเทศทางยุโรปขายดีมาก ปกติซุปไก่จะเป็นซุปไก่สีเหลืองๆใช่ไหมคะ แต่ซุปไก่ของเรามีใส่เครื่องเทศเข้าไปด้วย มันเลยกลายเป็นสีน้ำตาลนิดนึง แต่ตอนนี้ในเมืองไทยไม่มีขายแล้วนะ คนไทยชอบรสชาติเผ็ด จะมีเพื่อนสมัยเด็กๆเขาชอบทานซุปไก่ เขาบอกว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เขาได้ทานมาม่าซุปไก่ เขาจะคิดถึงคุณแม่เขา แล้วเวลาเจอหน้า ก็ต้องเอามาม่าซุปไก่ไปให้ แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่าของหาซื้อยากเลย หาซื้อในประเทศไทยไม่ได้ค่ะ ประมาณปี พ.ศ. 2518 เราได้เพิ่มรสต้มยำกุ้งและหมูสับ เพราะว่าเราต้องการให้รสชาติใกล้ชิดกับคนไทยมากขึ้น

 

ManGu: ทำไมคุณถึงตั้งชื่อแบรนด์ว่า “มาม่า"? ทุกวันนี้ “มาม่า” กลายเป็นคำเรียกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในเมืองไทย ทำไมถึงเป็นแบบนั้น และคุณคิดว่าความสำเร็จของการสร้างแบรนด์ขึ้นอยู่กับอะไร?

พจนา พะเนียงเวทย์: ชื่อ "MAMA" มาม่า แปลว่าแม่ แม่เป็นคนที่ทำอาหารอร่อยที่สุด ถ้าลองสังเกตดู ชื่อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะเป็นสองพยางค์ ที่ซ้ำๆกัน คนคิดก็คือ คิดถึงแม่ คือแม่ทำอาหารได้อร่อยที่สุด คนอื่นทำอร่อยสู้แม่ไม่ได้ ก็เลยเป็น “มาม่า” เราเชื่อมั่นในความเป็นมาม่า และมาม่าอาจจะขายได้เยอะ Market Share 50% เลยทำให้เราไปไหนก็จะเห็นแต่มาม่า คนก็เลยเอามาม่าเป็นGeneral Brand บางทีเพื่อนบอกว่าวันนี้กินมาม่าซองสีม่วง พี่ก็บอกว่า “มาม่าไม่มีซองสีม่วง” เพราะว่าเป็นที่ยอมรับของประชาชน เขาก็เลยคิดว่าเรียก “มาม่า” จนติดปาก

 

ManGu: “มาม่า”เริ่มโดดเด่น หรือว่าแซงหน้าเพื่อนตั้งแต่เมื่อไหร่ หรือด้วยเหตุการณ์อะไร?

พจนา พะเนียงเวทย์: มีสามประเด็นหลักค่ะ เหตุผลที่หนึ่งคือหุ้นเราคือสหพัฒน์ เป็นหุ้นส่วนที่ดีมากในประเทศไทยSaha Group การกระจายสินค้าก็สามารถกระจายได้ทั่วถึง เหตุผลที่สอง คือเราจะเริ่มมีการชงชิม เท่าที่คุณพ่อเล่าให้ฟังนะคะ ว่าเราชงชิม ซึ่งแบรนด์อื่นอาจจะไม่ได้ชงชิม ตัวมาม่าเป็นสินค้าที่เริ่มชงชิมก่อน โดยที่เป็นนโยบายของคุณเทียม โชควัฒนา คือตามห้างที่เป็นถ้วยเล็กๆ ชงชิมสินค้าอาหาร พี่ว่าในการที่จะทำให้เขาติดหรือซื้อสินค้าของเรา เหตุผลที่สาม คือเราใช้คุณภาพและมาตรฐานระดับสูงในการผลิตสินค้าของเราเสมอมา เราอยู่ในธุรกิจมา ค่อยๆแซงแบรนด์อื่นๆมาเรื่อยๆ จนตอนนี้ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ประมาณ 50%

 

 

ManGu: อะไรคือวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดที่ “มาม่า” พบเจอตั้งแต่ก่อตั้งมา?

พจนา พะเนียงเวทย์: ถ้าหนักๆเลย มีรอบหนึ่ง คือทางเรากับลูกค้าเข้าใจเรื่องการวิเคราะห์เครื่องปรุง คนละมาตรฐาน โดยที่เขาใช้มาตรฐานของประเทศเขา คือยุโรป เรานี้ใช้มาตรฐานของไทย มาตรฐานทางด้านบะหมี่โลก การกำหนดมันไม่เหมือนกัน และวัตถุดิบบางอัน เขาบอกคำนวณแบบนี้ใช้ได้ แต่ของเขาคำนวณใช้ไม่ได้ เขายึดมาตรฐานตรงนั้น มันเลยคุยกันไม่รู้เรื่อง เนื่องจากเขาก็ถูก เราก็ถูก แล้วเขาก็คิดว่าเขาถูกและใหญ่กว่านะ กลายเป็นว่าคุยกันยังไม่รู้เรื่อง เขาตัดสินใจจะยังฟ้อง พี่เลยคิดว่าถ้าเขาฟ้องแบบนี้พี่คงไม่ไหว เพราะอาจส่งผลต่อกับสินค้าที่เราขายด้วย เพราะที่เรามีปัญหาก็เป็นคู่ค้าเราด้วย เลยทำให้ความสัมพันธ์คงไม่ดี พี่เลยใช้วิธีทักคนที่พี่รู้จักว่า ถ้าคุณว่างเรามานั่งคุยกันไหม พอดีเขาบินมาประเทศไทยพอดี เราก็นั่งคุยกัน ซึ่งมันถูกทั้งคู่ แต่พี่แค่สงสัยว่า ปกติกำไรของเราปีละ 2ล้านยูโร แต่คุณจะมาฟ้องฉัน 2 ล้านยูโร ไม่รู้เมื่อไหร่จะชนะ ตอนนี้มีปัญหามา 2 ปีกว่าแล้ว กำไรคุณหายมาตั้งกี่ล้านยูโรแล้ว เพื่อมาฟ้องอันนี้ แล้วคุณได้อะไรถ้าคุณชนะ คุณอาจจะไม่ได้เงินก็ได้ พอเจรจาปุ๊ป คุยเสร็จ เขาก็ยอมนะ ภายใน 7 วันก็เคลียร์กันหมด

 

ManGu: เมื่อพูดถึง “มาม่า” รสชาติแรกที่นึกถึงคือรสชาติของ "หมูสับ" และ "ต้มยำกุ้ง" ทำไมถึงพัฒนาสองรสชาตินี้?

พจนา พะเนียงเวทย์: ทางคุณพิพัฒ พะเนียงเวทย์ เขาเป็นคนคิดนะคะ ว่ารสชาติที่มันจะเหมาะกับคนไทย อย่างที่บ้านคนไทย จะชอบทานซุปหมูสับ แล้วที่เราป่วยหรืออยากได้พลังงานเพิ่ม กินมาม่าหมูสับแล้วมันจะรู้สึกดี ส่วนต้มยำกุ้งนี่ก็เป็นอาหารไทยที่เป็นที่นิยมนะคะ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เราผลิตเป็นรสต้มยำกุ้ง มันเป็นตัวแทนอาหารไทย มีหลายคนเพิ่งทราบว่าตัวพริกเผาต้มยำของเราน่ะค่ะ หลายคนเข้าใจว่า ทั้งน้ำข้นทั้งน้ำใส ตัวน้ำพริกเผา หลายคนเข้าใจว่าเราเอาสารเคมีมาผสม แต่จริงๆแล้วเราเอาเครื่องเทศ เช่นใบมะกรูด ตะไคร้ และเครื่องเทศอื่นๆ ก็คือเป็นน้ำพริกเผาจริงๆ เพราะฉะนั้นเราก็เลยมีความแตกต่างจากต้มยำกุ้งยี่ห้ออื่น เมื่อก่อนมาม่าหมูสับก็เหมือนกัน เอาน้ำมันหมูมาเจียว ตอนหลังเนื่องจากคุณภาพน้ำมันหมูมันควบคุมไม่ได้ เลยเป็นหอมเจียวกับกระเทียมไปทอดจริงๆ แล้วข้างในก็มีพริกไทยจริงๆ ได้ยินมาว่าคนจีนชอบเครื่องปรุงต้มยำกุ้งของเรามาก พวกเขาจะซื้อเครื่องปรุงต้มยำกุ้งเป็นจำนวนมาก แล้วนำไปทำบะหมี่ต้มยำกุ้งทะเลรสชาติเข้มข้น

 

ManGu: ได้ยินมาว่า “มาม่า” ประสบปัญหาเมื่อเข้าสู่ตลาดจีนเป็นครั้งแรก?

พจนา พะเนียงเวทย์: น่าจะเป็นช่วงเปิดโรงงานที่จีนในช่วงปี 1980 ตอนนั้นเปิดไป 2-3 ที่ แต่สุดท้ายก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ อาจเพราะว่ามันอยู่ไกล ในตอนนั้นซึ่งก็ผ่านมาหลายปีแล้ว ได้ทำโรงงาน เช่นทำที่คุนหมิง คือโรงงานเราอยู่บนภูเขาสูง กลายเป็นว่าน้ำมันเดือดยาก ทอดแล้วไม่ค่อยสุก เพราะว่ามาม่าต้องทอดก่อน ในแต่ละที่ที่เราไปเปิดโรงงาน เราจะได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติม ที่จีนก็เคยลงทุนไว้อย่างที่ทราบมาประมาณ 3-4 ที่ด้วยซ้ำ และแต่ละที่จะมีปัญหาที่มันเหมือนกัน แต่ตอนนั้นประเทศจีนเมื่อ 30 ปีที่แล้วก็นานแล้วนะคะ ถ้าลงทุนตอนนี้อาจจะไม่เหมือนกัน เพราะสถานการณ์กับเวลามันต่างกัน และวิธีคิดมันต่างกัน ก็น่าจะดีนะคะ

 

ManGu: คุณมาจากครอบครัวชาวจีน คุณรู้จักมีคติสอนใจหรือสุภาษิตของจีนหรือไม่?

พจนา พะเนียงเวทย์: คุณพ่อจะสอนเสมอว่า “คนที่มีเกียรติที่สุด ก็คือคนที่ให้เกียรติคนอื่น” ก็เหมือนกับของพี่ พี่มีความรู้สึกว่าทุกคนเท่าเทียมกันหมด เวลาที่พี่คุยกับใคร ไม่ว่าจะเป็นระดับสูง หรือแม้กระทั่งระดับพื้นฐาน เช่น คนขับรถ ก็จะพูดเหมือนกันหมด พี่ไม่เคยไปLook Down เพราะเมื่อเราให้เกียรติอีกฝ่าย เขาก็จะให้เกียรติเราเหมือนกัน อีกอย่างหนึ่งคือ ตำราสามก๊ก ก่อนที่ขงเบ้งจะมายอมทำงานให้เล่าปี่ เล่าปี่ต้องไปเชิญถึงสามหน แปลว่าเวลาทำงาน “ถ้าเธอทำงานแล้ว หนเดียวไม่สำเร็จ ก็ให้ทำหนสอง หนที่สาม” อันนี้ก็คือเป็นความมุ่งมั่นกับความตั้งใจว่าถ้าเราต้องการให้ประสบความสำเร็จตามที่เราต้องการ เราต้องไม่ย่อท้อ

 

ManGu: ปัจจุบันตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีการแข่งขันสูง ทางแบรนด์ก็พัฒนารสชาติหรือวิธีการรับประทานใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ทิศทางการพัฒนาในอนาคตของ “มาม่า” คืออะไร?

พจนา พะเนียงเวทย์: ถ้าถามพี่ทานมาม่าไหม ใช่ พี่ทานอยู่ตลอด ปัจจุบันเด็กไทยก็ทานมาม่า เป็นขนมขบเคี้ยว เมื่อปลายปีที่แล้ว มียูทูปเบอร์ของฟินแลนด์ เขาถ่ายวิดีโอขยำมาม่าเอาเครื่องปรุงมาม่าไปใส่ในมายองเนส แล้วมาทำเป็นดิป เอามาม่าจิ้มแล้วกินค่ะ และมีลูกค้าคนหนึ่ง เขาบอกพี่ว่าทานมาม่าต้มยำกุ้งแล้วจะหายเมา หลายคนก็บอกว่าแก้เมาได้ กินแล้วสร่างเมา ส่วนแผนที่จะทำโปรดักส์อื่นๆออกมานะคะ เป็นสินค้าที่เราขยายขอบเขตออกจากตัวบะหมี่ค่ะ ก็จะเป็นเส้นขาว+ข้าว ผลิตภัณฑ์จากข้าวค่ะ วิธีทานง่ายมาก คือเข้าไมโครเวฟ 7 นาที ออกมาก็จะเป็นข้าวผัดค่ะ

 

 

Thank you.

คุณพจนา พะเนียงเวทย์ / Pojjana Paniangvait

 

Photographer : Luttsit Thongbansai @bellr_blackroom 
Graphic Designer : xiaohe 
Coordinator : Lalana Akka-hatsee @joobjang_akhs
Column Writer : Zou SiYi @joy_zz97 / Sheldon Chan @sheldonchan1116

You can share this post!

MANGU E-Magazine Cover Story Issue 252 (15th March 2023) พบกับบทสัมภาษณ์ คุณพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งประเทศไทย

MANGU E-Magazine Cover Story Issue 250 (15th February 2023) พบกับ บทสัมภาษณ์สุด Exclusive “อิงฟ้า วราหะ” สาวงามผู้ครองมงกุฎ Miss Grand Thailand 2022 และผลงานการแสดงซีรีส์เรื่อง “Show me love แค่อยากบอกรัก”