news-details

MANGU E-Magazine Cover Story Issue 209 (1st June 2021) พบกับ คุณนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานปฏิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้อยู่เบื้องหลังการบริหารงานธุรกิจศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์

ManGu : สวัสดีค่ะ ขอเชิญแนะนำประวัติตัวเองคร่าว ๆ ค่ะ

คุณนราทิพย์ : สวัสดีค่ะ ขอเริ่มแนะนำประวัติจากภูมิลำเนาและการศึกษาก่อนนะคะ ดิฉันเกิดที่จังหวัดสุโขทัย ตั้งแต่เกิดจนโตก็เรียนและใช้ชีวิตที่สุโขทัย ในตอนมัธยมปลายก็ได้รับการคัดเลือกไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยาศาสตร์บัณฑิตด้านสาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรม และทำงานอยู่ประมาณ 10 ปีแล้วหลังจากนั้นก็ได้เรียนปริญญาโทสำหรับผู้บริหารที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งตอนนั้นทำงานแล้วก็เรียนปริญญาโทไปด้วย ระหว่างที่ทำงานก็ได้รับทุนจากสภาองค์การนายจ้างของรัฐบาลญี่ปุ่นไปแลกเปลี่ยนเรื่องการบริหารงานบุคคลร่วมกับตัวแทนจากหลายประเทศในเอเชีย เช่น จีน เกาหลี มาเลย์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มองโกเลีย อินโดนีเซีย เป็นต้น

ManGu : ตอนนั้นเรียนแล้วทำงานไปด้วยแล้วบริหารจัดการเวลายังไงคะ

คุณนราทิพย์ : ตอนที่เรียนปริญญาโท คือ ในตอนกลางวันก็จะทำงาน ตอนกลางคืนก็จะเรียนหนังสือ การเรียนตอนนั้นเป็นเรื่องของผู้บริหารก็เป็นการใช้ประสบการณ์ และ Connection เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากหลายสาขาอาชีพมากกว่า จริง ๆ ตอนที่ได้ไปแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่นคิดว่าจะลาออกแล้ว แต่ทาง Central ก็ใจดีให้เราไปเรียนแบบสบายใจ ให้ไปเรียนแต่ก็จ่ายเงินเดือนให้ด้วย แทบจะเป็นคนแรกเลยก็ว่าได้ไม่ต้องทำงานเป็นปี แค่ตั้งใจเรียน ต้องขอบคุณทาง Central มาก ๆ ที่ได้ให้สิทธิพิเศษนี้ ตอนที่เรียนที่ญี่ปุ่นได้เรียนเกี่ยวเทคโนโลยีและการจัดการมากมาย เราก็มีโอกาสได้เข้าไปทำงานจริง ๆ ที่บริษัทโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น NTT  ไปดูว่าเขาทำงานและบริหารทรัพยากรบุคคลกันอย่างไร แล้วมีขั้นตอนการทำงานยังไง ตอนนั้นที่ตัดสินใจไปแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่น เพราะว่าเราทำงานเกี่ยวกับการบริการคนในสมัยนั้น ต้องยอมรับว่าสมัยก่อนเนี่ย ญี่ปุ่นดังมากในเรื่องคุณภาพของคนบริการ ก็เลยคิดว่าเขาทำได้ทำไมเราจะทำไม่ได้ อยากรู้ว่าเขาสอนคนของเขายังไง ดังนั้นก็เลยตัดสินใจไปที่ญี่ปุ่น ไปอยู่ที่นั่นมา 1 ปีหลังจากนั้นก็กลับมาทำงานกับที่เซ็นทรัลต่อ ที่สุดท้ายที่ทำคือ เซ็นทรัลสาขาภูเก็ต ตอนนั้นก็อยู่มาจนถึงอายุประมาณ 45 ปี รู้สึกว่าต้องหาที่ให้ตัวเอง เพราะเรามีโอกาสทำงานใน Central เกือบครบทุก Function แล้วทั้งงานหน้าบ้านและหลังบ้าน งานเริ่มไม่ท้าทาย มีแค่ที่ไม่ได้ทำอันเดียวคือฝ่ายจัดซื้อ ซึ่งสมัยนั้นเป็นคนในตระกูลจิราธิวัฒน์ เป็นผู้ดูแลเป็นหลัก สุดท้ายเลยตัดสินใจลาออกแล้วก็มาเปิดร้านอาหารเพื่อสุขภาพเล็ก ๆ เพื่อตอบความฝันของตัวเอง อยากให้มีอาหารเช้าดีดี ง่าย ๆ ก่อนไปทำงาน ตอนนั้นก็เลยรู้ว่าคนไทยน่าสงสารมากไม่มีอาหารเช้าให้กิน แล้วร้านก็เป็นความฝันของเราตอนสมัยก่อนเหมือนกัน

ManGu : ตอนนั้นที่ลาออกจากเซ็นทรัลคือจะเกษียณตัวเองใช่ไหมคะ

คุณนราทิพย์ : คิดว่าจะเกษียณจากการทำงานบริษัทและออกไปทำอะไรที่ตัวเองอยากทำมากกว่า พอดีกับที่ Index Living Mall กำลังเริ่มขยายสาขา ทำเรื่อง Index Living Mall Concept ใหม่  ก็ชวนไปทำเกี่ยวกับการจัดซื้อของตกแต่งบ้านโดยเฉพาะซึ่งเดิม Index Living Mall ทำเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ แล้วมาปรับโฉมทำ Decorative Items เพิ่มให้ครบทำอยู่ 1 ปี เปิดไป 7 สาขาทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สาขาที่ภูมิใจมากที่สุดคือสาขาที่หัวหิน ที่นั่นขายดีมาก ขายดีแบบถล่มทลาย เราถือเป็นร้านค้าแรกที่เข้าไปในหัวหิน นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้น มีทั้งภูเก็ต เชียงใหม่ แล้วก็อุดรธานี หลังจากนั้นทางสยามพิวรรธน์ก็ชวนมาทำในโปรเจคที่ไม่เคยทำมาก่อน ตอนนั้นก็ได้ คุณชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เขาอยากให้เราทำงานเกี่ยวกับศูนย์การค้า ที่เป็น The Pride of BKK ตอนนั้นเรารู้ว่ามันท้าทายมากอยากจะลองทำสักครั้ง เขาก็ให้เราเลือกระหว่าง ห้างสรรพสินค้า กับ ศูนย์การค้า ซึ่งเราก็ไม่ลังเลที่จะเลือกที่จะเลือก ศูนย์การค้า ตอนนั้นสยามพารากอนพึ่งเปิดได้ประมาณ 4-5 เดือน ซึ่งก็ได้มีร้านค้าย้ายเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ดิฉันโชคดีที่มีโอกาสได้ทำงานกับผู้หญิงเก่งมากถึง 2 ท่านคือคุณชฎาทิพ จูตระกูล และคุณศุภลักษณ์ อัมพุช ได้เรียนรู้และมีโอกาสทำงานได้และร่วมพัฒนางานในหลายโครงการจนถึงปัจจุบัน

ManGu : ตั้งแต่การบริหารห้างสรรพสินค้าไปจนถึงศูนย์การค้า ในเรื่องของการบริหารแล้วก็การทำงานมีการเปลี่ยนแปลงที่เยอะมาก รู้สึกว่าท้าทายไหม

คุณนราทิพย์ : ดิฉันรู้สึกว่างานในธุรกิจนี้เป็นการทำงานที่ท้าทายทุกวัน ทุกอย่างที่ทำมีปัจจัยภายนอกมาเปลี่ยนแปลงการทำงานตลอดเวลา การตื่นตัวกับรอบข้าง ไม่ว่าจะเรื่องโรคระบาด การชุมนุมทางการเมื่อกระทบกับแผนงานและการทำงานของเราตลอดเวลา เราไม่มีทางรู้ว่าตื่นมาจะเจออะไร การทำงานต้องมีแผน 1-2-3 เสมอไม่เคยมีแผนเดียว เพราะงานที่เราทำเกี่ยวข้องกับคนเยอะมากทั้งลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้นหรือแม้แต่คนไทยทั้งประเทศก็มองเราอยู่ด้วยความที่เราเป็น Siam Paragon เป็น Land Mark ที่ทุกคนภาคภูมิใจ เราจึงมีความกดดันมากกว่าคนอื่น

ManGu : ความกดดันที่มาก เป็นเพราะว่าทุกคนคาดหวังค่อนข้างสูง อะไรคืออุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในตอนนั้น?

คุณนราทิพย์ : ดิฉันไม่รู้สึกว่าคืออุปสรรค การทำงานที่สยามพารากอน ทุกคนเลยค่อนข้างคาดหวังกับเราอย่างมาก ไม่ว่าจะทำเรื่องอะไร เรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ก็มีผลกระทบหมด รู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองรับผิดชอบมันใหญ่มากเรารู้สึกต้องทำให้เกินกว่าสิ่งที่คนคาดหวัง ทุกวันที่เราทำไม่ได้เทียบกับใครเลยนะเราเทียบกับคนที่ดีกว่าเราทุกอย่าง แม้ว่าไม่ใช่คนที่เก่งขนาดนั้น เรารู้สึกว่าเราสามารถเรียนจากเขาได้ มันก็มีหลายเรื่องที่เรารู้สึกว่ามันยาก แต่เราก็จะหาวิธีมาทำจนได้ เรารู้สึกในการทำบริการก็เป็นแบบนี้ ให้ลูกค้าได้ซื้อของแบบมีความสุข และด้วยสถานการณ์ที่ทุกคนต้องเผชิญตอนนี้ การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ยังทำให้ห้างสรรพสินค้าของเราต้องมีมาตรการรับมือที่ดีขึ้น เรียนที่จะปรับตัว ดังนั้นเราแบ่งคนออกเป็นสามประเภท จริง ๆ งานของพี่ที่ต้องตอบสนองเนี่ยมีอยู่สามกลุ่ม กลุ่มแรก คือลูกค้า คนที่ Walk in เข้ามาช้อปปิ้งอยู่ที่บ้านคนที่รักเราเชียร์เรา กลุ่มที่สอง คือผู้เช่าร้านค้าที่อยู่ในศูนย์ ทั้งเจ้าของบริษัทและพนักงานที่หน้าร้าน กลุ่มที่สาม คือพนักงานของเราเองที่เขาต้องทำงานตอบสนองความต้องการของทุกฝ่าย จะทำให้ทั้งคนทั้ง 3 กลุ่มอยู่กับเราอย่างมีความสุขได้อย่างไรซึ่งกลุ่มคนทั้งสามกลุ่มนี้คือมีจำนวนมากต้องการความหลากหลายและมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานี่คือความกดดันที่เป็นเรื่องท้าทายมาก

ManGu : ตอนนี้สยามพารากอนก็ถือว่าประสบความสำเร็จมาก แล้วคุณนราทิพย์ยังคิดว่ามีจุดไหนที่อยากให้เกิดขึ้นอีกไหมคะ สำหรับพารากอนหรือสำหรับความฝันของตัวคุณนราทิพย์เอง

คุณนราทิพย์ : สยามพารากอนเองคือต้องการพูดกันว่า ตอนเริ่มต้นเลยคู่ค้าของเราเนี่ย มีทั้งสองแบบทั้ง ผู้เช่าระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งในระยะยาว ก็เป็นข้อจำกัดในการปรับเปลี่ยนศูนย์การค้า จริง ๆ ก็มีคนอยากทำธุรกิจกับเราเยอะมาก เรามีพื้นที่ให้เขาแค่นี้ เราจะบริหารพื้นที่เราอย่างไรให้มันตอบสนองทุกคน ลูกค้าก็อยากเช่าเราก็อยากมีพื้นที่ให้เขาเช่า ผู้เช่าที่มาใหม่ ๆ เราก็อยากมีร้านใหม่ ๆ แต่เราไม่มีที่แล้ว โจทย์ของทางพารากอนตอนนี้คือทำยังไงให้มันยังไงรู้สึกสดใหม่ มีของใหม่ ๆ มาให้ลูกค้าตลอด ลูกค้ามาหาเราก็เพราะว่าอยากมีประสบการณ์ใหม่ ๆ นี่คือสิ่งที่พวกเราทำมาตลอด เราอยากให้ทุกคนมาสัมผัสกับประสบการณ์ของ One Siam ตั้งแต่ สยามดิสคัฟเวอร์รี่ สยามเซ็นเตอร์ แล้วก็สยามพารากอน ทำให้ทุกอย่างตอบโจทย์ลูกค้าเราได้มากขึ้น ซึ่งหวังว่าในสามปีนี้จะมีคนพูด One Siam มากขึ้นไม่เฉพาะสยามพารากอนอย่างเดียวอีกต่อไป

ManGu : พูดถึง "One Siam" คุณนราทิพย์ให้คอนเซปต์กับ "สยามดิสคัฟเวอร์รี่" "สยามเซ็นเตอร์" แล้วก็ "สยามพารากอน" แตกต่างกันอย่างไร

คุณนราทิพย์ : สยามเซ็นเตอร์เป็นสถานที่แห่งแรงบันดาลใจมีของใหม่ ไอเดีย ใหม่ และน่าสนใจมากมายที่นี่ มีแบรนด์ไทยที่อยู่ที่นี่และผู้คนที่มาที่นี่จะได้รับความสนุกสนานที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนนักศึกษานักออกแบบหรือกลุ่มอื่น ๆ ที่สามารถรับแรงบันดาลใจหรือข้อคิดในการใช้ชีวิตและการทำงาน สยามดิสคัฟเวอรี่สามารถมอบประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจให้กับผู้คนที่นี่ได้เสมอเป็นเหมือนการไปค้นคว้าหาตัวเองว่าเหมาะกับอะไร คนที่มาช้อปปิ้งสยามพารากอนล้วนแล้วแต่มีร้านของตัวเองในใจเป็นที่ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องความ Luxury

ManGu: นอกจาก One Siam แล้วคุณนราทิพย์ยังต้องดูในส่วนของ ไอคอนสยาม กับ สยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต ด้วยใช่ไหมคะ สองที่นี้ต่างจากที่คุณนราทิพย์ดูก่อนหน้านี้ยังไงคะ

คุณนราทิพย์ : ในฐานะที่เราเป็นผู้บริหารของสยามพิวรรธน์ เมื่อมีโครงการใหม่ ๆ เราก็จะได้รับมอบหมายให้เป็นพี่ใหญ่ในการดูแล สนับสนุน สอนงานให้ทั้ง ไอคอนสยาม กับ สยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต ด้วย ช่วยจนเปิดได้และส่งมอบให้ทีมบริหารแต่ละที่ดูแลต่อไป หากมีปัญหาหรือนโยบายใด ๆ ที่มีส่วนในการทำงานก็มีการสนับสนุนแลกเปลี่ยน update ให้ตลอดเวลาเราเหมือนพี่ใหญ่ที่ต้องดูแล ด้วยประสบการณ์และความสำเร็จใน One Siam เราผ่านร้อนผ่านหนาวมามากซึ่งได้รับความไว้วางใจ จึงทำให้ One Siam ก็เหมือนโรงเรียนที่ส่งคนไปช่วยบริษัทย่อยของเรา โดยใช้ประสบการณ์ที่เรามีไปช่วยเขาให้สามารถบริการลูกค้าได้ตามนโยบายของแต่ละที่

ManGu : จากที่มีการพูดไปก่อนหน้านี้ คุณนราทิพย์มักจะออกไปทำงานในที่ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งในส่วนของงานที่เพิ่มขึ้นตามมาด้วยนั้น คุณนราทิพย์มีวิธีการในการบริหารเวลาอย่างไรบ้างคะ

คุณนราทิพย์ : อันนี้มันก็เหมือนกองทัพ ใครเดือดร้อนเราก็ไปช่วยเราก็เหมือนเสนาธิการที่คอยวางแผน เหมือนเราก็สอนให้เขาหาปลา ถ้าเขามีปัญหาก็มาหาเรา ยกตัวอย่างเช่นตอนเราไปทำงานใหม่ ๆ เนี่ยเราก็ต้องส่งทีมไปช่วย แน่นอนว่าเราก็จะฝึกให้ทีมของเรา เพราะตัวเรารู้สึกสิ่งที่สำคัญที่สุดการฝึกคนของเรา พอเราฝึกคนเหล่านี้แล้ว มันก็จะมีมาตรฐานเดียวกัน ฝึกให้พวกเขามีมาตรฐานตามที่เราต้องการ การบริหารเวลาของตัวเองคือเป็นคนทำงานเร็ว ตื่นเช้า นอนดึกทำให้มีเวลาทำงานในแต่ละวันเยอะกว่าคนอื่น เลยทำงานได้มากกว่ามั้งคะ (หัวเราะ)

ManGu : คุณนราทิพย์จะเน้นในเรื่องของการฝึกคน สไตล์การบริหารของคุณนราทิพย์เป็นยังไงคะ หรือคุณนราทิพย์ใช้ระบบอะไรในการบริหาร

คุณนราทิพย์ : ในการทำงานเราต้องใช้คนให้ถูกงาน คือเนื่องจากพี่ทำงานกับคนแล้วคนของพี่มีหลายระดับพนักงานระดับล่างก็มี พนักงานระดับด็อกเตอร์ก็มี เพราะฉะนั้นการใช้งานในแต่ละกลุ่มคนจึงไม่เหมือนกัน เอาตามมาตรฐานของพี่ ในการทำงานเราต้องได้ใจเขาในช่วงวิกฤติ พี่ก็จะมีคนที่มีใจอยู่กับพี่ ตัวเราก็ได้ช่วยเขา เราก็รู้จักพนักงานมากมาย เพราะเราเดินอยู่ตลอดเวลา พอเห็นพนักงานเราก็ทักทายเขาดูแลพวกเขาตลอด ล่าสุดก็พึ่งทำพิธีมอบรางวัลให้กับพนักงานที่มีอายุงานสี่สิบปี ในด้านการทำงานของพี่ ต้องรู้จักที่จะเข้าใจปัญหา รู้ถึงเนื้องาน เราเองก็ต้องเคารพในความคิดของเขา แสดงความคิดเห็นว่าทำแบบอื่นได้ไหม แล้วอย่างช่วงโควิดเราก็มีการพูดคุยกับพวกเขาบ่อย ๆ แล้วก็คอยให้กำลังใจพวกเขา เป็นส่วนหนึ่งของเขา ให้เขาอุ่นใจรู้ว่าเมื่อมีภัยมาเราจะอยู่กับเขาช่วยเขาแก้ปัญหาเสมอ ไม่ทิ้งกัน

ManGu : แล้วที่คุณนราทิพย์คิดว่าวิกฤติที่คุณนราทิพย์เจอ ที่ยากที่สุดคือครั้งไหน

คุณนราทิพย์ : คือก่อนหน้านี้ก็เจอวิกฤติหรืออุปสรรคมาเยอะมากแต่ก็ผ่านมันมาได้ แต่พี่คิดว่ารอบนี้ยากสุด คนจำนวนมากไม่สามารถมาเที่ยวที่ประเทศไทยได้ทำให้การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจลดลง ประเทศไทยพึ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหลัก พอวันหนึ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเกิดปัญหา ก็ยิ่งทำให้มีปัญหาทางเศรษฐกิจเยอะมากยิ่งขึ้นด้วย แล้วก็ยังทำให้ธุรกิจการบริการมีปัญหาด้วยเช่นกัน ตั้งแต่การระบาดเมื่อปลายปีที่แล้ว ห้างของเราก็เริ่มมาตรการที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น คนที่จะเข้าห้างก็ต้องมีการวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อเพื่อให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการสบายใจมากยิ่งขึ้นด้วย

ManGu : คุณนราทิพย์ว่าวิกฤติในครั้งนี้จะอยู่อีกนานแค่ไหน แล้วตัวสยามพิวรรธน์มีการรับมือต่อวิกฤตินี้ยังไง

คุณนราทิพย์ : เรารู้สึกว่าอย่างน้อยที่สุดก็ประมาณอีกครึ่งปี เพราะว่าหนึ่งเลยรายได้เรายังไม่กลับมาแน่ ๆ ถึงแม้จะคนเยอะแต่ก็ไม่ได้กลับไปเท่าเดิม บางวันก็ใกล้เคียงกับของเดิมแต่กำลังซื้อไม่เท่ากัน แต่เรามีช่องทางการจัดจำหน่ายที่มากขึ้นในทางออนไลน์ บางทีลูกค้าแค่อยากให้เอาของไปส่งที่บ้าน เราก็จะมีบริการนี้ให้กับลูกค้าในช่วงที่เราปิด

ManGu : สยามพารากอนเป็นหนึ่งในที่ที่คนจีนมักจะช้อปปิ้งกัน ในหลายปีที่ผ่านมานี้รู้สึกว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงบ้างไหมคะ และในมุมมองของคุณนราทิพย์เอง รู้สึกว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวในไทยมีแนวโน้มเป็นอย่างไรบ้างคะ

คุณนราทิพย์ : ต้องบอกก่อนเลยพฤติกรรมลูกค้าคนจีนที่มาพารากอนรู้สึกว่าเราเป็นพี่น้องกัน ลูกค้ามาที่นี่ก็จะรู้สึกแฮปปี้ สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปเลยก็คือห้างของเรามีบริการภาษาจีน มีพนักงานจำนวนมากที่พูดภาษาจีนได้ นักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่คือมาเป็นกลุ่มแล้วก็มีกำลังซื้อมาก สมัยก่อนคนที่มาเที่ยวที่นี่จะมาเป็นกรุ๊ปทัวร์ใหญ่ ๆ หลัง ๆ ก็จะกรุ๊ปเล็กลง มีเป็นครอบครัวมากขึ้นแล้วก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อ ลูกค้าจีนอีกแบบนึงคือที่ซื้อของกลับไปเยอะ ๆ ซื้อของฝาก ซื้อของไทย ๆ ไปฝากเพื่อน ๆ ก็จะมีการเลือกซื้อของเอง ตอนนี้เราก็มีการปรับบริการ สามารถพรีออเดอร์ของก่อนได้เราก็แพ็คทุกอย่างให้เรียบร้อยไปส่งที่โรงแรมหรือสนามบิน ตอนนี้นักท่องเที่ยวจีนที่มาส่วนใหญ่ก็จะเป็นวัยรุ่นมากขึ้นแล้วก็มีที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ หลายปีที่ผ่านมานี้นักท่องเที่ยวจีนก็มามากขึ้น ในเรื่องการสื่อสารก็สะดวกมากขึ้นด้วย

ManGu : คุณนราทิพย์มีเชื้อสายจีนไหมคะ

คุณนราทิพย์ : มีคุณตากับคุณปู่มาจากเมืองจีน นอกนั้นคือคนไทยทั้งหมดค่ะ

ManGu : ในการใช้ชีวิตประจำวัน คิดว่ามีวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตบ้างไหมคะ

คุณนราทิพย์ : ในวัฒนธรรมจีน ที่ถูกสอนอย่างหนึ่งเลยคือเราต้องขยัน ถ้าอยากประสบความสำเร็จต้องขยันทำในสิ่งที่รู้ รู้ในสิ่งที่ทำ ในเรื่องส่วนตัวคนจีนสอนให้กินดี มีคนเยอะมากที่ทำงานจนกินข้าวไม่ลง แต่ก็จะถูกสอนว่ากินให้เยอะจะได้มีแรงทำงาน อีกเรื่องคือบุญคุณต้องทดแทน เรารู้สึกว่าสามสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ

ManGu : ในหนึ่งวันจะเริ่มต้นที่กี่โมงถึงกี่โมง ในการแบ่งเวลาของคุณนราทิพย์แบ่งยังไงบ้าง

คุณนราทิพย์ : ทุก ๆ วันก็จะตื่นตีห้าครึ่ง ออกกำลังกายหนึ่งชั่วโมงที่บ้านหรือไม่ก็ออกมาวิ่งข้างนอก แต่อย่างน้อยที่สุดก็คือวันละอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง พอออกกำลังกายเสร็จก็ทานข้าวเช้าแล้วก็ไปทำงาน ปกติก็จะถึงที่ทำงานประมานเก้าโมง เดินดูความเรียบร้อยก่อนศูนย์จะเปิด มีออกไปสำรวจคู่แข่งบ้าง ตอนเลิกงานจริง ๆ คือหกโมงเย็น แต่ก็เดินก่อนเพราะว่ารถมันติดก็เลยออกจากห้างประมาณสองทุ่ม ถึงบ้านก็อาบน้ำ ดูทีวีดูข่าว พยายามนอนให้ได้ก่อนเที่ยงคืน เมื่อก่อนคือนอนดึกมาก ตอนนี้ก็พยายามนอนให้ได้ก่อนเที่ยงคืน

ManGu : แล้วเวลาว่างกับวันหยุดส่วนใหญ่จะทำอะไรบ้าง

คุณนราทิพย์ : ส่วนใหญ่ก็ใช้ชีวิตกับครอบครัว เดินห้างทานข้าว เพราะในหนึ่งวันไม่ค่อยมีเวลาทานข้าวกับเขาเยอะ อาทิตย์ต้องมีทานข้าวด้วยกัน จริง ๆ แล้วชีวิตไม่ค่อยมีงานอดิเรกเลย เพราะจริง ๆ วันหยุดส่วนใหญ่ก็จะมาที่ห้าง มาดูพนักงานทำงาน มาให้กำลังใจเขา ถ้ามีอีเว้นท์ใหญ่ ๆ ก็มาดูเรื่องความเรียบร้อย สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือมาเยี่ยมผู้เช่า เราก็จะได้รู้จักเขาจริง ๆ ที่ไม่ใช่ในเวลาทำงาน วันหยุดหรือเมื่อมีเวลาว่างก็จะมีกิจกรรมกับครอบครัว เล่นกีฬา ทานอาหาร ท่องเที่ยว update trend หรือกิจกรรมใหม่ ๆ

ManGu : คนจำนวนมากสงสัยว่าประเทศไทย มีผู้บริหารหญิงประสบความสำเร็จเยอะกว่าประเทศอื่น คุณนราทิพย์รู้สึกยังไงเกี่ยวกับเรื่องนี้

คุณนราทิพย์ : ดิฉันคิดว่าผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยเราก็ไม่ได้กำหนดว่าเป็นหญิงหรือชาย ทุกคนมีโอกาสเท่ากัน เราเห็นว่าเขามีความสามารถเราถึงให้ทำ เรามองกันที่ความสามารถมากกว่า บางทีอาจจะมีสังคมของประเทศไทยเข้ามาเกี่ยวอย่างนึงว่าผู้หญิงเป็นแม่บ้าน ด้วยความที่ผู้หญิงเป็นแม่บ้านก็จะมีความละเอียด ในการทำศูนย์การค้าคือต้องการคนที่ละเอียด แล้วการที่เป็นแม่บ้านมันทำให้เราต้องใส่ใจคนอื่น ผู้ชายก็ไม่จำเป็นที่จะต้องออกนอกบ้านไปทำงาน หรือผู้หญิงต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูกเพียงอย่างเดียว เพราะจริง ๆ แล้วสมัยนี้เราก็เห็นผู้ชายเยอะมากที่อยู่บ้านเลี้ยงลูก นี่เป็นสิ่งที่ธรรมดามาก ๆ และเรารู้สึกว่าการที่จะประสบความสำเร็จ เราต้องขยันตั้งใจทำงาน มีเป้าหมายที่ชัดเจน แล้วก็นำไปใช้ได้จริง

You can share this post!

MANGU E-Magazine Cover Story Issue 210 (15th June 2021) มรดกทางศิลปะที่มีชีวิต บทสัมภาษณ์ปรมาจารย์อุปรากรจีนละครเพลงเฉาโจว (งิ้วแต้จิ๋ว) - เหยาซวนชิว Yao Xuan Qiu 姚璇秋

MANGU E-Magazine Cover Story Issue 208 (15th May 2021) ภณ ณวัสน์ ภู่พันธัชสีห์ และ บัว นลินทิพย์ สกุลอ่องอำไพ คู่พระนางเคมีดี จากละครที่กำลังมาแรง "พราวมุก" ทางช่อง3