news-details

MANGU E-Magazine Cover Story Issue 265 (1st Oct 2023) จากฮ่องกง สู่ ประเทศไทย คุณพอลล์ กาญจนพาสน์ ซีอีโอบางกอกแลนด์ ผู้เติมจิ๊กซอว์ใหม่ บน อาณาจักร เมืองทองธานี

คุณพอลล์ กาญจนพาสน์ ได้ใช้ชีวิตช่วงวัยเด็กอยู่ที่ฮ่องกง เขามักจะติดตามคุณพ่อ (คุณอนันต์ กาญจนพาสน์ ผู้สร้างอาณาจักรเมืองทองธานี) ไปร้านขายนาฬิกาอยู่เป็นประจำ และยังใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่นั่น เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงที่คุณพ่อทำงานถึงแม้ว่างานจะยุ่งแค่ไหนก็ตาม แต่คุณพ่อก็ยังมีเวลาพาลูก ๆ ไปทานอาหารอร่อย ๆ ในวันหยุด ช่วงเวลาของครอบครัวไม่ได้เป็นเพียงการแสดงความรักเท่านั้น แต่ยังเป็นการถ่ายทอดความรู้ทางธุรกิจที่ค่อย ๆ ซึมซับมาสู่รู่นลูกด้วยเช่นกัน

ในปี 1998 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ขณะนั้นคุณพอลล์อายุ 24 ปี ได้จบการศึกษาจากประเทศอังกฤษและได้เดินทางกลับมายังประเทศไทย เขาได้กลับมาช่วยธุรกิจของครอบครัว และรับตำแหน่งแรก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการของ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ด้วยความที่คุณพอลล์เกิดและเติบโตที่ฮ่องกงจึงไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ แต่เขาต้องการที่จะช่วยงานของครอบครัว จึงเร่งฝึกฝนทุกด้านทั้งด้านภาษา การทำงานให้มั่นคง แข็งแรงและรวดเร็วตามที่คุณพ่อได้วางไว้

เมืองทองธานี ที่ถูกออกแบบ พัฒนาจากต้นแบบที่อยู่อาศัยของฮ่องกง ได้เปลี่ยนแปลงที่ดินที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ชานเมืองของกรุงเทพฯไปอย่างน่าทึ่ง พร้อมถูกส่งต่อ จาก รุ่นพ่อ สู่ รุ่นลูก ภายใต้การบริหารของ คุณพอลล์ กาญจนพาสน์ ที่มี บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด อยู่ในความรับผิดชอบของเขา

บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ ที่รู้จักในชื่อ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ถือเป็นจิ๊กซอว์ตัวแรกและตัวสำคัญในการปลุกปั้นและสร้าง เมืองทองธานี ให้เป็นที่รู้จัก

ช่วง 25 ปีที่ผ่านมา อิมแพ็ค เมืองทองธานี ได้ถูกเลือก เพื่อเนรมิตเป็นสถานที่จัดงานใหญ่สำคัญ ๆ แบบนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอนเสิร์ตครั้งที่ 2 ของราชาเพลงป๊อป Michael Jackson ที่จัดขึ้นในประเทศไทย ถือเป็นจุดเปลี่ยนในการพัฒนาของ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1996 Michael Jackson ได้มาจัดคอนเสิร์ตที่ประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2 ครั้งนี้ เขาได้มองหาสถานที่จัดคอนเสิร์ตแห่งใหม่ ที่สามารถจุคนได้มากขึ้น ศักยภาพของ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ถือเป็นสถานที่ที่เขาเลือก ซึ่งการจัดคอนเสิร์ตในครั้งนี้ ทำให้ผู้คนรับรู้ว่า อิมแพ็ค เมืองทองธานี สามารถเป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ได้และทำให้ประเทศไทยกลายเป็นเป้าหมายสำคัญในการจัดทัวร์คอนเสิร์ตของศิลปินที่มีชื่อเสียงทั่วโลก

ปัจจุบันพื้นที่ของอิมแพ็ค เมืองทองธานี ค่อยๆถูกเติมเต็ม ด้วยจิ๊กซอว์ตัวใหม่ ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมเท่านั้น ล่าสุด ได้เปิดตัวโรงเรียนสอนประกอบอาหาร เลอโนท ประเทศไทย (Lenôtre Culinary Arts School Thailand) ถือเป็นอีกแรงสำคัญที่จะนำการเติบโตใหม่ๆมาสู่องค์กร และผลักดันให้ประเทศไทย เดินหน้าสู่การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ คือ การท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรมอาหาร (Food Tourism) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยต่อไป

ทุกการพัฒนาขององค์กรที่ยอดเยี่ยม ผู้บริหารแต่ละรุ่นล้วนมีบทบาทในการพัฒนาที่สำคัญ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย คุณพอลล์ กาญจนพาสน์ ซีอีโอบางกอกแลนด์ พร้อมควบตำแหน่งซีอีโอ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด กำลังจะสร้างตำนานบทใหม่ให้เกิดขึ้นกับ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในแบบฉบับของเขา

ManGu: คุณพอลล์เกิดที่ฮ่องกงใช่ไหมคะ

คุณพอลล์ กาญจนพาสน์: ผมเกิดและเติบโตที่ฮ่องกง เมื่อตอนอายุ 13 ปี ผมได้ไปเรียนต่อที่อังกฤษ คุณพ่อผมย้ายมาทำงานที่เมืองไทย จริง ๆ แล้วครอบครัวผมเป็นคนไทย แต่ประมาณยุค 70 คุณพ่อย้ายไปทำงานที่ฮ่องกงและได้รู้จักกับคุณแม่ (คุณโซฟี กาญจนพาสน์) จากนั้นก็สร้างครอบครัวที่ฮ่องกง คุณปู่ (คุณมงคล กาญจนพาสน์) ผมทำธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายนาฬิกาแบรนด์ชั้นนำชื่อว่า City Chain และมีส่วนทำให้นาฬิกา Seiko ได้วางขายและติดตลาดในบ้านเรา ตอนเด็กๆคุณพ่อมักจะพาผมไปทำงานด้วย พาผมไปเยี่ยมชมร้านนาฬิกาและกินของอร่อย ๆ หลายที่ในฮ่องกง เนื่องจากธุรกิจที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง คุณพ่อจึงต้องกลับมายังประเทศไทย เพื่อที่จะช่วยคุณปู่ดูแลธุรกิจ

 

ManGu: หลังจากกลับมาที่ประเทศไทยในปี 1997 คุณพ่อของคุณพอลล์ก็ไม่ได้ทำนาฬิกาต่อ แต่หันไปทำธุรกิจทางด้านอสังหาริมทรัพย์ใช่ไหมคะ

คุณพอลล์ กาญจนพาสน์: ใช่ครับ ในช่วงนั้นคุณพ่อเขาต้องเดินทางระหว่างไทยและฮ่องกงบ่อย และยังไม่เลิกทำธุรกิจนาฬิกา แต่ที่บ้านมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้วเลยลงมือทำในส่วนที่มีอยู่ คุณปู่ของผมชอบซื้อที่ดิน ซึ่งราคาที่ดินสมัยก่อนไม่แพงเลยซื้อติดกันสองที่ หลังจากนั้นจึงได้สร้าง อิมแพ็ค ขึ้น

ManGu: ทำไมถึงกล้าตัดสินใจพัฒนาที่ตรงนั้น เพราะค่อนข้างห่างจากตัวเมือง

คุณพอลล์ กาญจนพาสน์: เพราะคุณพ่อ มองว่าที่ดินตรงนั้น คือ การทำเงิน หากสร้างอิมแพ็คไว้ตรงกลาง มีแต่ผลดีและมีโอกาสในการพัฒนามากมาย คุณพ่อ เคยอาศัยอยู่ที่ฮ่องกงก็จะรู้สึกว่าที่ดินค่อนข้างแพง แต่ที่ดินในไทยไม่แพง อีกทั้งแถวนั้นมีทางด่วนเข้าถึงทำให้สะดวกต่อการเดินทาง

 

ManGu: ตั้งแต่ตอนนั้นคิดว่าจะทำอิมแพ็คเป็น exhibition hall รึยังคะ

คุณพอลล์ กาญจนพาสน์: ตอนนั้นประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ในปี 1998 คุณพ่อของผม มองเห็นโอกาสตรงนี้และอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในนั้น ท่านเลยได้พูดคุยกับทางรัฐบาลว่าจะสร้าง อิมแพ็ค อารีน่า กับ exhibition hall เพื่อที่จะรองรับการจัดงานในครั้งนั้น

ManGu: ภารกิจแรกกับโปรเจ็คแรกที่ได้รับคืออะไรคะ

คุณพอลล์ กาญจนพาสน์: โปรเจ็คแรกที่ได้รับ คือ งานเอเชี่ยนเกมส์ แต่ตอนนั้นผมยังพูดภาษาไทยไม่ได้ คุณพ่อผมเลยให้ผมเรียนภาษาไทย หลังจากนั้นผมก็เริ่มทำโปรเจ็คเอเชี่ยนเกมส์ สร้างอาคาร หาลูกค้า ถึงแม้ว่าตอนนั้นจะเจอวิกฤตต้มยำกุ้ง หลายคนไม่คิดว่าอาคารจะสร้างเสร็จ แต่พอผ่านไปเริ่มเปิดกิจการปรากฏว่าสามารถผ่านพ้นวิกฤตตรงนั้นมาได้

 

ManGu: จากนั้นมาธุริกิจก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ ไหมคะ

คุณพอลล์ กาญจนพาสน์: ทุกอย่างดีขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากนั้นก็ได้ตัดสินใจสร้างอาคารเพิ่ม จากเดิมที่มี อิมแพ็ค อารีน่า อาคาร 1-4 (ปัจจุบันอาคาร 5-8) ขยายต่อสู่ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 และยังมีการจัดงาน “Jewelry fair” ทำให้มีงานเข้ามาเรื่อย ๆ และงานฮ่องกงตอนนั้นก็เปิดตัวแล้ว คุณพ่อได้ชักชวนบริษัทอื่นๆให้มาร่วมมือกับเราและเริ่มขยายอิมแพ็ค เพราะลูกค้ามีความต้องการมากขึ้น ลูกค้าค่อนข้างพอใจ ถึงแม้กำไรไม่มาก แต่มันค่อย ๆ เพิ่มเรื่อย ๆ หลังจากนั้นได้เริ่มสร้างโรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ อิมแพ็ค ที่มีจำนวนประมาณ 380 ห้อง และโรงแรมไอบิส กรุงเทพ อิมแพ็ค อีกกว่า 500 ห้อง อนาคตผมยังมีแผนที่จะสร้างโรงแรมเพิ่มอีก

ManGu: นอกจากงาน Jewelry fair แล้วยังมีงานไหนที่เป็นจุดเปลี่ยนอีกไหมคะ

คุณพอลล์ กาญจนพาสน์: นอกจากงาน Jewelry fair ที่เป็นไฮไลต์แล้วยังมีงาน Motor Expo ในยุคนั้นจะมีการจัดงานมหกรรมรถยนต์ 2 งานแข่งกัน ตอนแรกไม่คิดว่างานสองงานใหญ่จะจัดขึ้นที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานีได้ แต่ลูกค้า (ผู้จัดงาน) มองเห็นศักยภาพของเรา จึงตัดสินใจมาจัดงานที่อิมแพ็ค นอกจากนี้ยังมีงานมหกรรมอาหารระดับนานาชาติชื่อว่า THAIFEX และงานนิทรรศการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ที่ค่อนข้างใหญ่ระดับโลกมาจัดด้วย และหลังจากนั้นก็ทำให้มีงานแสดงสินค้าต่าง ๆ มาจัดที่อิมแพ็คมากขึ้น ดึงดูดบริษัทจากหลายประเทศอยากมาร่วมมือด้วย และบริษัทก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

 

ManGu : นอกจากงานแสดงสินค้าแล้ว ยังมีการจัดคอนเสิร์ตด้วยใช่ไหมคะ อันนี้เป็นงานหลักที่จะพัฒนาต่อไปไหมคะ

คุณพอลล์ กาญจนพาสน์: ใช่ครับ การจัดคอนเสิร์ตตอนนี้ต้องได้รับการจองล่วงหน้า เพราะเวลาการจองคอนเสิร์ตเป็นเรื่องที่ยาวนานมากๆ และปริมาณผู้ชมค่อนข้างมาก ซึ่งฝั่งศิลปินเกาหลีจะเป็นที่นิยมมากๆ อันที่จริงเรามีสิ่งที่ต้องพัฒนาต่ออีกหลายอย่าง ยุคสมัยเปลี่ยนไปก็ทำให้มีคู่แข่งเยอะ และมีที่ใหม่ๆทั้งใหญ่กว่าใหม่กว่าอีกเยอะ เราก็ต้องสู้ต่อไป และธุรกิจบ้านจัดสรรเราก็ยังทำอยู่ ตอนนี้ก็มีโปรเจ็คเล็ก ๆ นำอาคารเก่ามารีโนเวทและสร้างตกแต่งห้องใหม่เป็นโอกาสดีที่จะได้ทำอะไรใหม่ๆครับ

ManGu: ทำไมถึงเปลี่ยนแนวมาทำธุรกิจร้านอาหารคะ

คุณพอลล์ กาญจนพาสน์: ผมเริ่มจากศูนย์ประชุมฯก่อน และค่อยพัฒนาธุรกิจอาหาร เพื่อรองรับการจัดงานต่างๆในพื้นที่ ทั้งการให้บริการอาหารจัดเลี้ยง อาหารว่าง หลังจากนั้นก็มีไอเดียที่จะต่อยอดสู่การเปิดธุรกิจร้านอาหารในเครืออิมแพ็ค ที่เกิดจากความชอบส่วนตัว จึงเริ่มที่ร้านอาหารจีนก่อน เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้ามาใช้บริการที่อิมแพ็ค หลังจากนั้นก็มีคนชวนผมไปเปิดร้านอื่น ๆ ปัจจุบันมีร้านอาหารเครืออิมแพ็ค ทั้งอาหารจีน อาหารนานาชาติ อาหารไทย อาหารญี่ปุ่นมากถึง 18 แบรนด์ รวม 29 สาขาเปิดให้บริการทั้งพื้นที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานีและศูนย์การค้าต่างๆในกรุงเทพและปริมณฑล

ผมก็คิดอยู่เสมอว่าถึงเราจะทำธุรกิจอะไรใหม่ก็ตาม ผมก็ยังต้องโฟกัสกับสิ่งที่ทำเป็นหลักอยู่เสมอ ล่าสุดได้เปิดโรงเรียนสอนประกอบอาหาร(Lenôtre Culinary Arts School Thailand) ซึ่งย้อนกลับไปผมรู้จักชื่อ Lenôtre จากการไปใช้บริการคาเฟ่ Lenôtre แต่ตอนนั้นผมไม่รู้ว่า Lenôtre มีโรงเรียนสอนประกอบอาหาร รู้จัก Lenôtre แค่คาเฟ่ที่เคยมาเปิดตัวในไทยและปิดตัวไป และเมื่อปลายปี2562 ผมได้เข้าคุยธุรกิจกับผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัท Lenôtre ผมได้แจกนามบัตรให้เขา พร้อมบอกว่า หากสนใจนำคาเฟ่ Lenôtre กลับมาเปิดที่ไทยให้ติดต่อผม หลังจากนั้นไม่นานผมก็ได้รับการติดต่อกลับมาว่า สนใจจะเปิดโรงเรียนสอนประกอบอาหาร Lenôtre ไหม ซึ่งตอนนั้นประเทศไทยมีโรงเรียนสอนประกอบอาหารที่มีชื่อเสียงเปิดไม่มาก ผมจึงตัดสินใจเปิดโรงเรียนสอนประกอบอาหารเลอโนท ประเทศไทย (Lenôtre Culinary Arts School Thailand)

 

ManGu: ระหว่างทำงานเคยเจอวิกฤตอะไรบ้างไหมคะ

คุณพอลล์ กาญจนพาสน์: หลายธุรกิจต้องเผชิญกับสึนามิลูกใหญ่ ผมเจอวิกฤตเยอะมาก ทั้งไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก โควิด เราผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ แต่ทุกครั้งจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ส่วนโควิด19 ผมไม่คิดว่าจะอยู่นานขนาดนี้ จนผมต้องตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ ถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด นับตั้งแต่ผมเข้ามานั่งบริหารงาน บางกอกแลนด์ ซึ่งการก่อตั้ง บางกอกแลนด์ ถือเป็นความตั้งใจของคุณพ่อที่ต้องการพัฒนาที่ดินที่มีพื้นที่ 4,000 ไร่แห่งนี้ ให้เป็น เมืองทองธานี เมืองแห่งการอยู่อาศัยและการพาณิชย์ ส่วนอิมแพ็คปีนี้จะมีอายุครบ 25 ปี ผมยังไม่คิดว่ามันสมบูรณ์แบบแล้ว ยังมีหนทางอีกยาวไกลและเราก็จําเป็นต้องปรับตัว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับ ความคิดของเราด้วยว่า ถูกจํากัดด้วยสิ่งที่เรามีหรือไม่ เมื่อเรามีศักยภาพดีเราก็ต้องทําให้ประสบความสําเร็จ

 

Thank you.
คุณพอลล์ กาญจนพาสน์


Photographer : Photographer : Luttsit Thongbansai @bellr_blackroom
Graphic Designer : Natchaphol Jin Srijun @Banshy.j
Coordinator : Narumon Sripool @poo_ler
Column Writer : Zou SiYi @joy_zz97

You can share this post!

MANGU E-Magazine Cover Story Issue 266 (15th Oct 2023) พบกับบทสัมภาษณ์ "คุณศุภโชค ปัญจทรัพย์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท ไฟว์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

MANGU E-Magazine Cover Story Issue 264 (15th Sep 2023) พบกับ "คุณวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอริกซ์ สปอร์ตจำกัด (มหาชน)