ManGu : ช่วยแนะนำตัวและเล่าที่มาของแบรนด์คร่าวๆให้เราฟังหน่อยได้ไหมคะ
คุณณัทธร : ผม ณัทธร รักษชนะ เป็นเจ้าของแบรนด์ KARMAKAMET ก่อนอื่นเลยต้องเล่าว่า ผมเป็นคนนราธิวาส อากงเป็นคนจีนไหหลำมาจากเมืองจีน ย้ายมาอยู่ที่ปีนังและท่านก็เป็นหมอยาจีน จากนั้นได้มาแต่งงานกับอาม่าที่อยู่ที่สมัยโกรก ในขณะนั้นอากงประกอบอาชีพทำธูปหอมและรังนกขาย จนกระทั้งในปี 1971 เป็นช่วงที่ผมเกิด อากงก็เลิกทำอาชีพธูปหอม ผมเติบโตและมาเรียนที่กรุงเทพฯผมก็เลือกเรียนสาย interior ที่เลือกเรียน interior เพราะแม่ผมเป็นช่างตัดเสื้อ ด้วยเหตุนี้ทำให้แม่ผมเป็นคนหัวสมัยใหม่ ในช่วงสมัยเรียนเริ่มตั้งแต่ช่วงมัธยมผมชอบศิลปะ พอเข้ามหาวิทยาลัยผมจึงเลือกเรียน interior เพราะการออกแบบห้อง จำเป็นต้องใช้ศิลปะทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผ้า เรื่องของตกแต่งบ้าน หลังจากจบการศึกษาก็ไปทำงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่เราเรียนคือ สาขา interior แต่พอทำไปสักระยะก็รู้สึกว่าไม่ชอบ เพราะมีเงื่อนไขหลายๆอย่าง ผมเลยไม่ค่อยรู้สึกสนุกกับงานที่กำลังทำอยู่ พอผมลาออกมาได้สักระยะ ก็มีคนชวนไปทำภาพยนตร์เรื่อง องค์คุลีมาร ผมเลยผันตัวมาทำภาพยนตร์ ซึ่งผมมีหน้าที่ออกแบบเสื้อผ้า ผมได้รับรางวัลจากการทำภาพยนตร์เรื่องนี้ จนกระทั้งมีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง และนั้นก็เป็นเงินก้อนแรกที่เริ่มต้นแบรนด์ KARMAKAMET ซึ่งการเริ่มต้นเราก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร เพราะเราไม่มีอาชีพ ด้วยความที่ไม่รู้จะทำอะไรดี จึงมีความคิดว่าจะไปหาเพื่อนที่อินเดีย เพราะผมมีเพื่อนอยู่อินเดีย ซึ่งในตอนนั้นผมเลือกไปเมืองดาร์จีลิง เพราะคิดว่าอย่างน้อยผมก็ได้ภาษาอังกฤษ ซึ่งปรากฎว่าขณะที่อยู่ผมกำลังจะเตรียมตัวไปอินเดีย ก็มีเพื่อนที่เป็นหุ้นส่วนด้วยกันในขณะนี้ ไปเดินเล่นที่จตุจักรและเจอร้านว่างอยู่หนึ่งร้านที่จตุจักรพอดี เขาจึงชวนผมทำธุรกิจด้วยกันบวกกับในขณะนั้นผมกลับไปที่นราธิวาสเพื่อที่จะไปลาพ่อแม่เพื่อเดินทางไปอินเดีย ปรากฎว่าผมได้เจอกระดานกลิ้งธูปของอากง จากนั้นผมจึงสอบถามข้อมูลจากคุณแม่ นั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของผมเกี่ยวกับการนำสูตรการทำธูปหอมของอากงกลับมาอีกครั้ง โดยผมได้การสอนทำสูตรทั้งหมดมาจากคุณป้า และนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ KARMAKAMET
ManGu : แล้วในตอนนั้นที่แบรนด์KARMAKAMET เริ่มต้นที่จตุจักร มีทิศทางเป็นยังไงคะ
คุณณัทธร : พอผมเริ่มนำสูตรของอากงที่ได้มาจากคุณป้า ผมก็ลงมือทดลองสูตรธูปหอมของอากงมาวางขายที่จตุจักร โดยเริ่มจากการซื้อน้ำมันหอม ด้วยความที่ในสมัยก่อน ไม่มีน้ำมันขวดเล็กๆเหมือนสมัยปัจจุบัน เวลาผมซื้อแต่ละครั้งจึงจำเป็นต้องซื้อในปริมาณมากๆ เพราะเรามีกลิ่นน้ำหอมถึง 24 กลิ่น ก็เลยต้องใช่น้ำมันเยอะ ตอนนั้นมีน้ำมัน 200 กก. ทำให้ผมเริ่มกรอกใส่ขวดขายบ้าง ทำเทียนหอมบ้าง จนร้านของผมกลายเป็นร้านเครื่องหอม ซึ่งถือว่าเป็นร้านแรกๆ ในเมืองไทยเพราะตลาดในตอนนั้นมีเพียง ร้านน้ำหอมเล็กๆ ที่ขายน้ำหอมแบบ 3 ขวด100 บาทเท่านั้น อีกอย่างคือ มีแต่คนทำธุรกิจครีม,สบู่ แต่ไม่มีใครคิดที่จะทำเทียนหรือธูปขายเลย จึงทำให้การตีตลาดสามารถทำได้ง่าย อีกทั้งสูตรของเราค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ ที่มีมากถึง 24 กลิ่น ทำให้ทิศทางการขายเครื่องหอมของร้านผม เป็นไปในทิศทางที่ดีมากขึ้น เพราะมีลูกค้าเยอะมากขึ้น
ManGu : แล้วในตอนนั้นมีวิธีการดูตลาดหรือตีตลาดอย่างไร
คุณณัทธร : ด้วยความที่ผมอกหักจากระบบธุรกิจต่างๆของโลก เพราะทำอะไรก็ไม่ได้ดั่งใจสักอย่าง ผมเป็นคนชอบศิลปะ และผมชอบอ่านพวกปรัชญา จุดนี้ทำให้ผมคิดว่ามันมีอะไรให้ทำอีกเยอะ และการทำธูปสูตรของอากง พอทดลองทำแล้วก็รู้สึกว่าหอมจริงๆ เพราะจุดกลิ่นกุหลาบก็ได้กลิ่นกุหลาบ จุดกลิ่นลาเวนเดอร์ก็ได้กลิ่นลาเวนเดอร์และมันไม่ใช่แค่หอมแต่มันสามารถแยกกลิ่นได้เลยว่าอันนี้คือ กลิ่นกุหลาบ อันนี้คือกลิ่นลาเวอเดอร์ อันนี้คือกลิ่นมะลิ ซึ่งมันหาได้ยาก หากถามว่ามีตลาดไหม ตอนนั้นมีตลาดออกแบบ 3 ขวด 100 บาท แต่เราไม่สนใจเราจะขายที่ราคา 360 บาท เพราะคิดว่าเครื่องหอมเราหอมจริง อีกอย่าง เพราะผมเรียน interior มาผมก็เลยตกแต่งร้านเป็นสีดำ ซึ่งก็แปลกใหม่และไม่มีใครทำในสมัยนั้น ผมตกแต่งร้านและติดแอร์ แถมน้ำหอมของทางแบรนด์ก็มีทั้งหมด 24 กลิ่นอีก นั้นจึงทำให้ร้านเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมา
ManGu : แล้วใช้เวลานานแค่ไหนคะ กว่าแบรนด์จะเติบโต
คุณณัทธร : ประมาน 2 ปีแต่ตอนเริ่มต้นผมลำบากมาก เพราะตอนนั้นเราเงินไม่เยอะผมและเพื่อนมีเงินเดือนแค่ 4,000 บาท แต่ค่าเช่าร้าน 12,000 บาท ซึ่งช่วงแรกๆก็แค่หาเงินเพื่อมาจ่ายค่าเช่าร้านและตอนนั้นอุปกรณ์ก็ไม่ครบด้วย ในช่วง 8 เดือนแรก เรายังผลิตเครื่องหอมนี้ไม่เสร็จ ตอนนั้นเพื่อนที่เป็นหุ้นส่วนก็เริ่มรู้สึกถอดใจ เราก็ให้กำลังใจเพื่อนว่าอดทนหน่อย สินค้าออกมาขายดีแน่นอน ปรากฎว่าสินค้าออกวันแรกเลย เราขายได้ 80,000 บาท แถมยังไม่พอจนต้องนำสินค้ามาขายเพิ่ม ต่อมาคนก็เริ่มบอกต่อแบบปากต่อปาก แล้วจากนั้นร้านเราก็เริ่มมีชื่อเสียงมากยิ่งขึ้น ในช่วงนั้นที่แบรนด์กำลังรุ่งเรืองก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดกับผม คือผมก็โดนโกงจึงจำเป็นต้องเริ่มคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาใหม่ ผมนึกขึ้นได้ว่ามีรุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยคนหนึ่งชอบซื้อสินค้าของเรามาก ผมจึงชวนเขามาลงทุนด้วยกัน พอเขาตอบตกลงเราใช่เวลาเพียงแค่ 1 เดือน เริ่มก่อตั้งทุกอย่างขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ทำให้ในปัจจุบันมีหุ้นส่วนที่ทำงานร่วมกัน 3 คน
ManGu : หลังจากเติบโตแล้ว มีการวางแผนธุรกิจอย่างไรบ้าง ให้เติบโตเร็วยิ่งขึ้นคะ
คุณณัทธร : ในช่วงเวลานั้นมีการเปิดห้าง Central World ใหม่ๆ และมีแบรนด์ใหม่ๆมาเปิดในห้างเป็น จำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือแบรนด์ ZARA (ซาร่า) ผมจึงคิดว่าหากเราสามารถเปิดร้านที่อยู่ตรงข้ามกับแบรนด์ ZARA (ซาร่า) ได้ เราก็จะมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น จึงไปของพื้นที่เล็กๆประมาน 3x3 ตารางเมตร ตรงข้ามกับแบรนด์ ZARA (ซาร่า) เพื่อตั้งร้าน พอผมขายได้ประมาน 1 ปี ห้าง Central World ก็มีการจัดระเบียบร้านค้าใหม่ ให้มีโซนที่ชัดเจนมากขึ้น ตอนนั้นเราก็รวบรวมเงินกัน เพื่อเปิดร้าน KARMAKAMET ใหม่ยาวไปเลย 1 แถบของห้าง Central World เมื่อมีการจัดโซนร้านค้าที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้นด้วย จนสามารถจดเป็นบริษัท KARMAKAMET ได้เหมือนทุกวันนี้ครับ
ManGu : แล้วมาเปิดสาขาที่สีลมได้อย่างไรคะ
คุณณัทธร : การมีร้านที่สีลม เป็นอีกหนึ่งความฝันของผมเลยครับ ว่าผมจะต้องมีร้านที่สีลม ซึ่งต้องบอกก่อนว่าหลังจากที่มีร้านอยู่ที่ Central World แล้ว เราก็มีสาขาอื่นๆก่อน จนกระทั้งทางแบรนด์มีกำไรมากพอ จนสามารถมาเปิดสาขานอกห้างได้ เราจึงมาเปิดที่สีลมก่อน ในตอนนั้นก่อนที่จะมีโควิด ผมมีความคิดอยู่แล้วว่า ร้านKARMAKAMET ไม่ควรมีแค่ในเฉพาะภายในห้างเท่านั้นเพราะหากเกิดเหตุการอะไรที่ทำให้ห้างปิด ทางแบรนด์ของเราเองที่จะลำบาก การเลือกที่ตั้งในสีลมก็ค่อนข้างเหมาะสมด้วยครับ เพราะหากเกิดอะไรขึ้นมาจริงๆ ร้านนี้จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
ManGu : ในโซนสีลมมีนักท่องเที่ยวเยอะมาก ตอนนี้มีแพลนจะขยายกิจการไหมคะ
คุณณัทธร : มีครับ ในโซนนี้ในอนาคต ทางแบรนด์จะมีการเปิดกิจการร้าน KARMAKAMET café ในโซนชั้นล่างของตึกที่สีลมนี้ โดยคอนเซ็ปจะเป็นแนวร้านที่ประสมประสานระหว่าง เครื่องหอมและกลิ่นของกาแฟให้ได้รับความรู้สึกแบบ อโรม่า คาเฟ่โดยร้านข้างๆ ที่เคยเป็น EVERYDAY KARMAKAMET จะเปิดร้าน KARMAKAMET café ขึ้นมาแทนครับ
ManGu : แล้วแบรนด์ EVERYDAY KARMAKAMET อีกหนึ่งแบรนด์ของทางบริษัทฯ มีซิกเนเจอร์แตกต่างออกไปจาก KARMAKAMET อย่างไร
คุณณัทธร : EVERYDAY KARMAKAMET เป็นอีกแบรนด์ของผมที่ทำแยกออกมา เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่เป็นสายคาเฟ่ ซิกเนเจอร์หลักๆก็จะเป็นเรื่องสีของร้าน ถ้าเป็นร้าน KARMAKAMETเราจะคุมโทนสีที่เป็น ดำ แดง ทอง และสีงาช้าง
ส่วนทางร้าน EVERYDAY KARMAKAMET ก็จะตรงข้ามกันคือ ขาว น้ำเงิน และ สีเงิน ซึ่งการทำแบบนี้จะได้ลูกค้า 2 กลุ่มอายุ ซึ่งทางแบรนด์ EVERYDAY KARMAKAMET จะเป็นกลุ่มลูกค้าอายุน้อย เพราะร้านราคาย่อมเยา เพื่อมีลูกค้าที่ EVERYDAY KARMAKAMET ลูกค้าก็จะรู้เองว่านอกจาก EVERYDAY KARMAKAMET แล้วทางแบรนด์ของเราก็ยังมี KARMAKAMET ที่เป็นร้านเครื่องหอมด้วยและสุดท้ายลูกค้าจากร้าน EVERYDAY KARMAKAMET ก็จะมาเป็นลูกค้า KARMAKAMET นั้นเอง
ManGu : ในตอนนี้ KARMAKAMET กับ EVERYDAY KARMAKAMET มียอดขายที่ใกล้เคียงกันหรือยังคะ
คุณณัทธร : เราไม่ได้ต้องการให้สองแบรนด์นี้ มียอดขายที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน เราต้องการให้ทั้งสองแบรนด์นี้เชื่อมต่อกัน เมื่อลูกค้า EVERYDAY KARMAKAMET มาทานอาหารหรือเครื่องดื่มภายในร้านเรา ด้วยความที่ตัวแบรนด์มีชื่อ KARMAKAMET อยู่แล้ว จุดนี้ก็จะทำให้ลูกค้ารู้จักร้าน KARMAKAMET มากขึ้น ว่าไม่ได้มีเพียงแค่คาเฟ่เท่านั้น แต่ยังมีร้านเครื่องหอมอีกด้วย บทสรุปสุดท้ายลูกค้าของเราก็จะเป็นลูกค้าที่อุดหนุนแบรนด์ของเราทั้ง 2 ร้านครับ
ManGu : อย่างที่ทราบกันดีว่าแบรนด์ KARMAKAMET ออกแบบและสร้างกลิ่นออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าหลากหลายกลิ่นมาก ทางแบรนด์มีวิธีการสร้างกลิ่นอย่างไร ให้ได้กลิ่นตามที่ลูกค้าต้องการคะ
คุณณัทธร : ตั้งแต่ที่มีโควิดระบาดออกมา คนก็ให้ความสำคัญกับบ้านมากขึ้น ที่ผ่านมา KARMAKAMET เริ่มต้นจากกลิ่นที่เป็นกลิ่นมาตรฐานทั้งหมด 24 กลิ่น ซึ่งเป็นกลิ่นที่ยอมรับในมาตรฐานโลก ซึ่งเราเริ่มจากตรงนั้น คนส่วนใหญ่คิดว่า KARMAKAMET ขายเครื่องหอม จริงๆแล้วเครื่องหอมของแบรนด์ KARMAKAMET เป็นวิถีทางไปสู่การตอบสนองความรู้สึกภายในจิตใจของลูกค้า โดยคอนเซ็ปของแบรนด์คือการทำกลิ่นอย่างไรที่จะทำให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยกลิ่นสามารถทำให้ผู้คนรู้สึกสงบ มีความสุข หรือเครียด ก็ได้ เพราะฉะนั้น การดมกลิ่นบางกลิ่นก็จะทำให้เราสามารถนึกถึงบางสิ่งบางอย่างได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อเราได้กลิ่นน้ำอบไทยก็จะนึกถึงวันสงกรานต์ เพราะกลิ่นมีความหมายมากกว่าความหอม และความหอมก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล บางคนชอบดอกไม้ชนิดนี้แต่บางคนกลับไม่ชอบดอกไม้ชนิดนี้ ดังนั้นความหมายของคำว่า ความหอม จึงไม่มีอยู่จริง ซึ่งมันจับต้องไม่ได้ จุดนี้ทำให้ทางแบรนด์มองว่า ความหอมเป็นเรื่องส่วนบุคคล ดังนั้นเราจึงสกัดความหอมให้กลิ่นใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด ซึ่งในปัจจุบันแบรนด์ KARMAKAMET มีกลิ่นมากถึง 7 เท่าจากแต่ก่อน เพื่อให้กลิ่นที่ทางแบรนด์รังสรรค์ออกมานั้น มีความใกล้เคียงกับธรรมชาติ เข้าถึงจิตใจของลูกค้าและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยเป้าหมายคือเราจะเลียนแบบกลิ่นจากทุกอย่างในโลกมาให้เหมือนหรือใกล้เคียงมากที่สุด เพื่อส่งเสริมให้แบรนด์ก้าวไปสู่อนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมปีหน้านี้ โดยเราจะให้ผู้คนได้มีโอกาสคัดเลือกกลิ่นที่ตัวเองชอบ เพื่อพาเขากลับบ้านที่เราคิดถึง
ManGu : โลโก้ KARMAKAMET ได้แรงบันดาลใจมาจากอะไรคะ
คุณณัทธร : แบรนด์ KARMAKAMET ในปัจจุบันมีโลโก้ 2 รุ่นแล้วนะครับ ซึ่งรุ่นและจะเป็นรุ่นที่มีกระจกที่เป็นรูปวงรี และภายในกระจกมีรูปภูเขา ซึ่งบนยอดสุดของภูเขาจะมีบ้านหลังเล็กๆอยู่ ส่วนในรอบๆจะมีดอกไม้ 4 ดอก ซึ่งแทนสัญลักษณ์ รูป รส กลิ่น เสียง แสตมป์เปรียบเสมือนชีวิตมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาต้องการที่สุดคือบ้าน ผมมองว่ามนุษย์ จริงๆแล้วเขาแค่เกิดมาและผ่านวิบากกรรมของตัวเองและวันนึงก็จากไป ซึ่งในวันที่มนุษย์จากไป บ้านที่อยู่บนยอดเขาในแสตมป์ก็จะเปรียบเสมือนหลังสุดท้ายของพวกเขา สิ่งที่สำคัญที่สุดทางแบรนด์ KARMAKAMET จึงสร้างเครื่องหอมขึ้นมาเพื่ออยากให้ทุกคนที่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ของเรารู้สึกเหมือนพวกเขากำลังได้กลับบ้าน
ManGu : ทางแบรนด์มีแพลนในอนาคตอย่างไรบ้างคะ
คุณณัทธร : ประมานต้นปีหน้าเราจะมีแผนจะเปิดตัวกลิ่นเครื่องหอมใหม่ ซึ่งจุดประสงค์หลักของเราก็คือ เราจะนำกลิ่นที่ทุกๆคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีและไม่มีแบรนด์ไหนทำ เช่น กลิ่นดิน กลิ่นมอส กลิ่นพวกนี้ล้วนแล้วแต่เป็นกลิ่นที่มาจากธรรมชาติอย่างแท้จริง ซึ่งการเปิดตัวในครั้งนี้เป็นเป้าหมายที่ ทางแบรนด์วางแผนมาเป็นระยะเวลาหลายปี และกลิ่นทุกกลิ่นที่เรากำลังจะเปิดตัวในต้นปีหน้า จะเป็นทางเลือกให้ทุกคน ได้ค้นพบกลิ่นที่เหมาะสมกับตัวเอง
ManGu : ทราบว่าเมื่อก่อนทางแบรนด์ก็ได้ผลิตเครื่องหอมให้กับโรงแรม แล้วทางแบรนด์จะรู้ได้อย่างไรว่ากลิ่นไหน เหมาะกับโรงแรมนั้นๆ
คุณณัทธร : ทางแบรนด์ต้องทำความรู้จักกับผู้คนที่จะนำกลิ่นของเราไปใช้ก่อน ซึ่งสิ่งที่ง่ายที่สุดคือ คอนเซ็ปของร้านหรือโรงแรมนั้นๆ เพราะในทุกโรงแรมหรือทุกร้าน ต่างก็จะมีคอนเซ็ปเป็นของตัวเอง เราก็จะนำคอนเซ็ปจากโรงแรมนั้นๆ มาตีความอีกที เช่น หากคอนเซ็ปของโรงแรมตีความเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความรัก เราก็จะถามอีกทีว่า ความรักในนิยามของโรงแรมนี้หมายถึงอะไร และเราก็จะสร้างชุดกลิ่นตามคอนเซ็ปของเขาออกมาให้เขาหลายๆชุด ให้เขาได้เลือกสิ่งที่พึงพอใจมากที่สุด
ManGu : เคยเหตุการณ์ที่เราอยากได้กลิ่นๆหนึ่งออกมาแต่เราไม่สามารถสื่อสารออกมาเป็นคำพูดได้ ในจุดนี้ เรามีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไร
คุณณัทธร : วิธีที่หนึ่ง คือ หากเรารู้ตัวว่าเราอยากได้กลิ่นกุหลาบแต่มันยังไม่ใช่กลิ่นกุหลาบที่เราต้องการ วิธีแก้ปัญหาของทางแบรนด์เราคือจะนำกลิ่นกุหลาบทั้งหมดทุกสายพันธุ์ออกมาเพื่อหากลิ่นที่ใช่มากที่สุด หากว่ายังไม่ใช้อีก เราก็จะเริ่มหากลิ่นดอกไม้พันธุ์อื่นๆ ที่มีลักษณะกลิ่นใกล้เคียงกับกุหลาบ วิธีที่สอง คือเราจะตีความจากรูปภาพ เช่น ถ้าหากว่ารู้สึกเศร้า รูปภาพก็จะเป็นสีเทาๆ เราก็จะสร้างกลิ่นขึ้นมาให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับรูปภาพ เพื่อให้กลิ่นสื่อความรู้สึก วิธีที่สาม ก็จะป็นเรื่องของสี เช่น สีเขียว ก็จะแสดงความรู้สึก คลีนๆ เขียวๆเหมือนกลิ่นหญ้า หรือกลิ่นของธรรมชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้คือ หลักจิตวิทยา ซึ่งหน้าที่ของแบรนด์ KARMAKAMET ก็คือการแปลความรู้สึกเหล่านี้ออกมาผ่านรูปแบบของกลิ่น
ManGu : ตอนนี้ KARMAKAMET มีทั้งหมดกี่ร้านแล้วคะ
คุณณัทธร : มีทั้งหมด 14 ร้านครับ และปีหน้าจะเปิดอีก 7 ร้าน โดยมีสาขาที่รีโนเวททั้งหมด 3 ร้านและ
เปิดช็อปใหม่อีก 4 ร้าน
ManGu : มีร้านเยอะขนาดนี้มีวิธีการบริหารและจัดการอย่างไรคะ
คุณณัทธร : ต้องบอกก่อนว่าเราโชคดี ที่น้องๆในทีมทุกคนมีความคิดและความชอบเดียวกัน ทำให้พวกเขาสามารถจัดการและบริหารร้านได้ด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งหน้าที่หลักของผมคือการให้แนวทางกับทุกๆแผนก KARMAKAMETเป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่เรามีทุกอย่างที่เป็นของเราเอง ตั้งแต่ ห้องเย็บเสื้อ สตูดิโอถ่ายภาพ ผมรู้สึกว่าผมโชคดีมากจริงๆ ที่ทุกคนเข้าใจกัน แม้จะมีการผิดใจกันเล็กน้อยบ้างในบางเวลา แต่ทุกคนก็จะเคารพและยอมรับการทำงานของกันและกันในที่สุด ทำให้การบริหารราบรื่นครับ
ManGu : ในช่วงโควิดที่ผ่านมาเจอปัญหาอะไรบ้างไหมคะ
คุณณัทธร : ผมว่าเจอเหมือนทุกแบรนด์ครับ ต้องบอกก่อนว่าเรื่องแรกคือตัวผมเองชอบ เรื่องปรัชญา และชอบศึกษาการเมืองโลก เราก็เลยศึกษาเรื่องการค้าขายออนไลน์ ผมจึงส่งน้องในทีมไปเรียนเพิ่มเติม ปรากฎว่าพอมาเจอสถานการณ์โควิด เราจึงตั้งแผนกออนไลน์ขึ้นมา ในบริษัทของเราก็รับมือกับสถานการณ์ได้พอดี ตอนนั้นร้านมีทั้งหมด 14 ร้าน ทางแบรนด์ต้องปิดตัวลง 10 ร้าน เราจึงจับมือกับทีมแผนกออนไลน์ จนสุดท้ายก็ผ่านวิกฤตนี้มาได้ด้วยกัน
ManGu : ตอนนี้มีนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวในไทยแล้ว โดยเฉพาะสีลมมีนักท่องเที่ยวเยอะมากในโซนนี้ ทางแบรนด์มีอะไรอยากจะฝากถึงนักท่องเที่ยวชาวจีนไหมคะ
คุณณัทธร : ผมขอตอบอย่างจริงใจนะครับ ประเทศที่ผมชอบมาที่สุดคือประเทศจีน เพราะคนจีนทุกคนมีพลังในการทำงาน และทุ่มเทมาก อย่างบ้านผมก็เป็นคนจีน อากงมาจากไหหลำ สิ่งที่อยากจะบอกก็คือขอบคุณมากๆที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แบรนด์ KARMAKAMET เกิดขึ้น เรารับรู้ได้ถึงความรักที่ทุกคนมีให้แบรนด์ของเราและเราอยากจะบอกกลับไปว่า พวกเราก็รักพวกเขาเช่นกัน
_______________________________________________________________________________________________________
Thank you.
คุณณัทธร รักษ์ชนะ (คุณเอท)
_______________________________________________________________________________________________________
Photographer : Natchakrit Wichiensarn @ktpx.kritt
Graphic Designer : Natchaphol Jin Srijun @Banshy.j
Coordinator : Narumon Sripool @poo_ler
Column Writer : Ms.Huang Lanjun @Mocy